ลุย 41 บิ๊กโปรเจ็กต์ดันเต็มสูบระบบรางเชื่อมไร้รอยต่อ

07 ก.ย. 2562 | 07:00 น.

คมนาคมปูพรม 41 เมกะโปรเจ็กต์ บก-ราง-นํ้า-อากาศ 1.78 ล้านล้านงบปี 63 กรมรางลุยรถไฟฟ้า-ทางคู่ ไฮสปีด ลดต้นทุนพลังงาน โยงการเดินทางทั่วไทยแบบไร้รอยต่อ

 

ปัจจุบันระบบราง มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากช่วยขนคน จำนวนมากไปยังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ลดมลพิษ ประหยัดต้นทุนพลังงาน ขณะเส้นทางของถนน มีข้อจำกัดในการขยายเขตทาง เสียเวลามีต้นทุนเวนคืน โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง อย่างไรก็ตาม ปี 2562 รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นระบบรางให้เชื่อมโยงถึงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งบก-นํ้า-อากาศ ของกระทรวงคมนาคม

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงคมนาคม มีแผนลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จำนวน 41 โครงการวงเงิน 1.78 ล้านล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558-2565) ที่มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกโครงข่าย ทั้งทางถนน ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ จนได้ตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้นเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยแผนพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทุกด้าน อาทิ ท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นและรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ลุย 41 บิ๊กโปรเจ็กต์ดันเต็มสูบระบบรางเชื่อมไร้รอยต่อ

สำหรับ ความคืบหน้าการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะหลังจากปี 2558 ที่ผ่านมา รุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด เริ่มจากการพัฒนาโครงข่ายระบบรางในเมือง ได้แก่ กระไฟฟ้าสายต่างๆ จากเดิมที่มีระยะทางอยู่ประมาณ 80-100 กิโลเมตร ขณะนี้มีการอนุมัติไปแล้วกว่า 386 กิโลเมตรคาดว่าในระยะเวลาอันใกล้ กรุงเทพมหานครจะเป็นมหานครระบบราง เชื่อมการเดินทาง จากกรุงเทพฯชั้นใน ไปยังชานเมือง ปริมณฑล โดยใช้เวลาอันสั้น

 

นอกจากในเขตเมืองเรายังได้พัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เช่น รถไฟทางคู่ ก่อเกิดเป็นเส้นทางสายใหม่ที่น่าสนใจ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ตาม แนวระเบียงเศรษฐกิจ“อีสต์-เวสต์ คอริดอร์” เชื่อมแม่สอด-มุกดาหาร โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ- นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ ระยอง ซึ่งจะเชื่อม 3 สนามบินหลัก (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และต่อจากนี้ในช่วงต้นปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการ โดยจะเป็นศูนย์กลางระบบรางหรือศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ในอนาคตของประเทศ

 

“แต่โจทย์ของการพัฒนาแต่ระบบรางไม่ใช่คำตอบเดียวที่เราดำเนินการ แต่เรายังมองถึงมิติ ด้านต่างๆ เช่น จะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาใช้ระบบรางโดยในปัจจุบันมีผู้เดินทางต่อวันประมาณ 20 ล้านคน แต่ผู้ใช้ขนส่ง มวลชนมีแค่ 1.4 ล้านคนเท่านั้น เมื่อลองขมวดปม ปัจจัยแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดการในเรื่องของราคาที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่ตกกระทบดังที่สุด และแน่นอนทางกระทรวงจะเร่งจัดการในเรื่องนี้” 

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3503 ระหว่างวันที่ 8 - 11  กันยายน 2562