แก้หนี้สูง-ยาเสพติดพุ่ง ภารกิจร่วมขับเคลื่อนสังคม

04 ก.ย. 2562 | 07:54 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3502 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.2562

 

แก้หนี้สูง-ยาเสพติดพุ่ง

ภารกิจร่วมขับเคลื่อนสังคม

 

            สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ชี้แจงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 มีประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายมิอาจมองข้ามและต้องร่วมมือในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1 ปี 2562 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.8% สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 โดยหนี้ครัวเรือนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา

            ไตรมาส 2 ปี 2562 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะภาพรวมสินเชื่อของธนาคารเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในระดับสูง 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวสูงสุดรอบ 4 ปีตามด้วยรถยนต์ที่โตขึ้น 10.2% แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า และหนี้เสียเพื่อการอุปโภค บริโภคไตรมาส 2 มูลค่า 127,439 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดหนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่ 32.3% บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5%

            แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง จากครึ่งปีแรกเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อ ในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ ประกอบกับมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

            ภาวะสังคมด้านอื่นไตรมาส 2 ปีนี้ คดีอาญารวมเพิ่มขึ้น 16.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 26.1% การเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ส่วนภาวะการอ่านหนังสือยังเป็นสิ่งที่ต้องกังวล โดยวัยเรียนยังอ่านหนังสือไม่ออกและขาดทักษะในการอ่าน โดยปี 2561 คนไทยที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือและอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 78.8% หรือ 49.7 ล้านคน และใช้ระยะเวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน

            การออกมาให้ข้อมูลของสศช.เป็นสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก เหมือนการตรวจร่างกายของคนเราที่จะมีตัวบ่งชี้ออกมาและเตือนว่าเราต้องทำอย่างไร กรณีหนี้ครัวเรือน หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในภาคการบริโภค เป็นที่สิ่งที่เข้าใกล้เส้นอันตราย กระทั่งคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้น คดีอุบัติเหตุที่ใหญ่ขึ้นจากการขับรถเร็ว กระทั่งการอ่านหนังสือที่ยังไม่มีวี่แววของพัฒนาการที่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันใกล้ชิดมากขึ้นในการขับเคลื่อนร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้