ประโยชน์ 'ทับซ้อน-ซ้อนทับ' 'ไทย-กัมพูชา-ทักษิณ'

03 ก.ย. 2562 | 11:59 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3502 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.2562 โดย...พรานบุญ

 

ประโยชน์

'ทับซ้อน-ซ้อนทับ'

'ไทย-กัมพูชา-ทักษิณ'

 

          ธุรกิจปิโตรเลียม-วงการพลังงาน-หน่วยงานความมั่นคง ตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ที่นิ่งสงบไร้คลื่นลมมานานนม นับตั้งแต่พ่ายศึกเขาพระวิหาร กลับมาเป็นพายุทอร์นาโดคำรามดังโครมครามอีกครา...

          เมื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ไปพิจารณาหาแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ เพื่อความมั่นคงประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาที่เจรจากันมาหลายปี แต่สะดุดกึกจากปมการเมืองภายในของไทยเรา

          สัปดาห์ที่ผ่านมาพรานฯเดินทางไปไหน บรรดา กุ้ง หอย ปู ปลา มิใช่นํ้าเต้า ว่ายทวนนํ้าบอกกล่าวเรื่องราวว่า ประเด็นนี้จะกลายเป็นเชื้อไฟสุมขอนในนาครชั้นดี หากเดินเกมเจรจาความทางการเมืองแบบไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย!

          ปลาบึกร้องบอกพรานฯดังๆ ด้วยความปรารถนาดีว่า รัฐบาลไทยต้องเข้าใจบริบทในเกมการเมืองโลกให้ดี ก่อนคิกออฟเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา 26,000 ตารางกิโลเมตร เพราะเวทีนี้มีจุดจบ สลบเหมือดมาหลายราย

          รัฐบาลไทยต้องเข้าใจให้ได้ว่า “จอมพล สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซ็น” นั้นมิใช่นักการเมืองบ้านนอก มิใช่ ส.จ.-ส.ท. แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาที่ครองตำแหน่งมายาวนานที่สุดในโลก นานถึง 34 ปีเข้าไปแล้ว หากนับตั้งแต่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1985 ด้วยอายุเพียง 33 ปี

          นักการเมืองผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวครองเก้าอี้ผู้นำประเทศมายาวนาน 34 ปี มิใช่เรื่องที่ใครจะเป็นได้

          กลเกม การเจรจาเรื่องผลประโยชน์ประเทศนั้นต้องบรมครู มิเช่นนั้นซื้อใจคนขะแมร์มิได้ดอกพ่อพรานฯเอ๋ย...พ่อปลาบึกบอก

          พรานฯล้วงลึกลงไปในมหากาพย์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เขาว่ากันว่า “มีขุมทรัพย์แหล่งก๊าซธรรมชาติ-นํ้ามันมหาศาล” รอบรรดานักล่าดินดำใต้สะดือโลก

          พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและพื้นที่ซ้อนทับไทย-กัมพูชา เป็นแหล่งพลังงานที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ยังไม่ได้ถูกขุดเจาะ และพร้อมให้กลุ่มทุนเข้าไปขุดดินดำทองคำ เรื่องนี้ TE DUONG TARA ผู้อำนวยการ Cambodian National Petroleum Authority เคยเปิดเผยข้อมูลคราวระหว่างการประชุมว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีปิโตรเลียม ของอาเซียนครั้งที่ 4 ว่า กัมพูชามีแหล่งก๊าซธรรมชาติและนํ้ามัน และมีการผลิตจำนวนมากนอกชายฝั่ง

 

ประโยชน์ 'ทับซ้อน-ซ้อนทับ' 'ไทย-กัมพูชา-ทักษิณ'

          เชฟรอน ได้รับสัมปทานอนุญาตขุดเจาะ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ได้ร่วมทุน 30% กับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท Resourceful Petroleum Ltd. และ SPC Cambodia Ltd. อีก 10% เป็นของ CE Cambodia B Ltd.คือผู้ได้สิทธิ์ แต่ติดที่ตกลงกันไม่ได้ ขุมทรัพย์จึงถูกฝังไว้กลางทะเล

          อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตลอดแนวทอดยาวตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในไหล่ทวีปของตน และผู้ใดจะดำเนินการเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งนั้นก่อน

          กัมพูชาและไทยได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตนในอ่าวไทย มาตั้งแต่ปี 2515 และ 2516 ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลกัน 26,000 ตร.กม. ทั้ง 2 ฝ่ายจึงได้เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2513 จนในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร  ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป เรียกขานกันว่า “MOU 2544”

          MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.กม. เรียกขานว่า “พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน”

          พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนที่ 2 อยู่ด้านล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) มีพื้นที่ 16,000 ตร.กม ซึ่งเรียกขานกันว่า “พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง” นี่คือเค้กก้อนโตในขุมทรัพย์และเป็นพื้นที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม

          ข้อตกลงในเอ็มโอยูบอกว่า การดำเนินการทั้ง 2 เรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package) และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันในเรื่องนี้ และได้ตกลงกันว่า MOU 2544 และการดำเนินการทั้งหมดตาม MOU 2544 จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย

          ข้อตกลงนี้เกือบสำเร็จหากพิจารณาจาก นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูง กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชา เกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลทักษิณ จะถูกขับพ้นจากการเป็นรัฐบาล

 

ประโยชน์ 'ทับซ้อน-ซ้อนทับ' 'ไทย-กัมพูชา-ทักษิณ'

          นายเกา ระบุว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันในหลักการแบ่งรายได้ ดังนี้ พื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด ไทยได้ 80% กัมพูชา 20% พื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50% พื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ไทยได้ 20% กัมพูชา 80%

          เชื่อพ่อพรานฯมั่ยว่า ตั้งแต่หลังการลงนามรับรองเมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใดๆ ได้

          วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

          เหตุผลการให้ยกเลิกเนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร  เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แต่จนถึงปัจจุบัน MOU 2544 ยังไม่ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

          ต่อมารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 นายกฯยิ่งลักษณ์มีท่าทีชัดเจนว่า จะไม่ยกเลิก MOU 2544 และประกาศเจตนารมย์ว่า จะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว

          วันที่ 3 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศเป็นประธาน ได้มีความเห็นว่า หลักการของ MOU 2544 ยังมีประโยชน์อยู่ และจะเสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณา

          วันที่ 29 ธันวาคม 2554 เฮียปึ้ง-นายสุรพงษ์ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ได้บุกเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยทั้ง 2 คน แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการเร่งรัดการเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลตาม MOU 2544 ให้เสร็จโดยเร็วภายในหนึ่งปีครึ่ง โดยทั้ง 2 คน เห็นด้วยกับการเร่งรัดการเจรจานี้

          แต่การดำเนินการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไม่คืบหน้า เพราะประชาชนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 เนื่องจากเห็นว่าไทยเสียเปรียบอย่างมาก และมีข้อสงสัยและห่วงใยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจมีของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งเค้กก้อนโตอาจอยู่ในมือ ทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตรที่ผูกติดไว้กับสัมปทานพลังงานนานนม

          ฝ่ายที่คัดค้านออกมาบอกว่า กัมพูชากลับกำหนดตามใจชอบ โดยลากเส้นเขตไหล่ทวีปของตนจากฝั่งที่ตำแหน่งซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาหลักสุดท้ายที่มาจดริมทะเล ตรงออกไปยังประมาณกลางขอบนอกด้านตะวันออกของเกาะกูดซึ่งเป็นของไทย

          จากนั้นจึงลากเส้นเขตไหล่ทวีปเริ่มต้นใหม่จากขอบนอกด้านตะวันตกของเกาะกูดในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตกจนเกือบถึงกึ่งกลางอ่าวไทย การกระทำลักษณะนี้เป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่มีอารยประเทศใดทำกัน

          ไทยจึงบอกว่า เขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปของตนให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศจนเหลือพื้นที่ทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผลและมีพื้นที่น้อยที่สุด แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่นั้นเพื่อทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

          ข้อถกเถียงนี้ยืนยาวมาจนบัดนี้ยังไม่ไปไหน ดังนั้นใครจะมาตั้งแท่นเรื่องนี้ดูดีๆ...ก่อนโดนไฟลวกมือ