บิ๊กอสังหากวาดเรียบ  6 โรงหนัง สะพานควาย

06 ก.ย. 2562 | 23:45 น.

ปิดตำนาน 6 โรงหนังดัง ย่านสะพานควาย-ประดิพัทธ์ จากแหล่งบันเทิง ทำเลสุดคลาสสิค สู่ตึกสูงคอนโดฯ-อาคารสำนักงาน จับตาพหลโยธิน เธียเตอร์ ใคร ครอบครองฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้เผยอานิสงส์รถไฟฟ้า-ผังเมือง เอื้อพัฒนามิกซ์ยูส

สะพานควาย ย่านคลาสสิกผสมผสานแหล่งบันเทิง ครบรสทั้งกลางวันกลางคืน ปัจจุบันกำลังถูกเลือนเป็นอดีต มีตึกสูงทะลุฟ้าเสียบขึ้นมาแทนที่ โรงหนังเก่าแก่ สไตล์สแตนด์อะโลน คาเฟ่ ตึกแถวถูกนายทุนทาบซื้อ รวมถึงร้านรวง ชุมชนค่อยๆหายหน้าบางตาลง กลายเป็นย่านอยู่อาศัย ของคนรุ่นใหม่ จากอิทธิพลรถไฟฟ้า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร สนับสนุนให้เป็นย่านพาณิชยกรรมและย่านอยู่อาศัยหนาแน่นมาก

ว่ากันว่าอนาคตอันใกล้กำลังถูกพลิกโฉม กลายเป็นแหล่งรวมมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ สังเกตจากการเร่งรื้อซากอาคารเก่า สูง 7 ชั้น ตั้งหัวมุมแยกสะพานควาย ตัดประดิพัทธ์ เดิมเป็นห้างเมอร์รี่คิงส์ ซึ่งถูกไฟไหม้ หรืออาคารศรีศุภราชเจ้าของพื้นที่ ล่าสุดอยู่ระหว่าง รื้อถอน พัฒนาเป็นอาคารสำนักงานสูงกว่า 30 ชั้น ขนาดไม่ตํ่ากว่า 4-5 หมื่นตารางเมตร ขณะด้านล่าง กำหนดเป็นแหล่งช็อปปิ้งชั้นนำ คาดว่าปีหน้าคงได้ยลโฉม ส่วนอาคารติดกันเป็นของบริษัท เดอะบูทีค จำกัด อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน โรงแรมทันสมัย เพิ่มความมั่งคั่งให้กับทำเลนี้อย่างมหาศาล

ฐานเศรษฐกิจสำรวจ สะพานควายทำเลดังบนถนนพหลโยธิน ขณะด้านบนมีรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดให้บริการ เพิ่มสีสันทางเลือกในการสัญจรแม้ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียม ค่ายใหญ่ เกิดขึ้นตลอดแนวเปิดขายมากสุด ได้แก่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และบมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท ที่น่าสนใจ คือ โรงหนังพหลเธียเตอร์ โรงหนังเก่าแก่ อายุกว่า 50 ปี ยังคงเปิดให้บริการ

นายสนองโอสระ อายุ 58 ปี ขับรถตุ๊กตุ๊กในพื้นที่เล่าว่า โรงหนังย่านสะพานควาย แทบไม่มีเหลือ มีพหลเธียเตอร์เนื้อที่ กว่า 2 ไร่ โรงเดียวเจ้าของไม่ขายท่ามกลางความสนใจของนักลงทุนเจรจาซื้อทะลุซอยทั้งโรงหนัง ตึก แถวและหอพักเกตุสิริ จากถนนพหลโยธินไปยังซอยประดิพัทธิด้านหลัง เพราะตั้งอยู่บนทำเลดี ติดตีนสถานีรถไฟฟ้าสะพานควายอยู่ฝั่งตรงข้าม กับโรงหนังมงคลรามา ค่ายอนันดาซื้อไป 5 ไร่เศษ แต่ต้องปรับแผนใหม่จากตารางเมตรละ 2.2 แสนบาทเป็น 1 แสนบาทต้นๆ ต่อตารางเมตร ตามกำลังซื้อผู้บริโภค

บิ๊กอสังหากวาดเรียบ  6 โรงหนัง สะพานควาย

นายสนองกล่าวต่อว่า บริเวณแยกสะพานควาย ยังมี โรงหนังอีกหลายโรงที่ตกไปอยู่ในมือนายทุน จากการเปลี่ยนแปลง ของโลกโซเชียล เช่น โรงหนัง นิวยอร์ก เข้าใจว่า น่าจะเป็น นักการเมืองพื้นที่ ตระกูลบุนนาค ปัจจุบันไม่แน่ชัดว่า โครงการเดอะไลฟ์ ของค่ายเอพี หรือไม่ ส่วนหัวมุมค่ายศุภราช อยู่ระหว่างรื้อถอน อาคารเก่า ขึ้นอาคารสำนักงานหรู ขยับเข้าด้านในซอยประดิพัทธ์ 25 พบว่า ค่ายพฤกษา ซื้อโรงหนังเฉลิมสินราคา 280 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง คอนโดฯแบรนด์แชปเตอร์

คนพื้นที่เล่าว่า เดิม พฤกษาจะซื้อ ตลาดสดศรีสวัสดิ์ 4 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของห้างเมอร์รี่คิงส์ แต่เจ้าของไม่ขายโดยตั้งราคาขายไว้ที่ กว่า 300 ล้านบาท พื้นที่ติดกัน พบเดอะไลน์ ของค่ายแสนสิริร่วมทุนกับกลุ่มบีทีเอสขณะอีกฝั่ง เยื้องโรงแรมสุดาพาเลซ พฤกษาซื้อโรงหนังประดิพัทธ์ เธียเตอร์ เนื้อที่ไม่เกิน 2-4 ไร่ ซึ่งนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า เป็นทำเลที่ดี ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควายไม่ถึง 500 เมตร คาดว่าจะพัฒนาคอนโดฯต้นปีหน้า


 

 

เจ้าของ “โชวห่วย” รายหนึ่งอายุกว่า 60 ปี อยู่อาศัยย่านสะพานควายตั้งแต่เด็ก เล่าว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงทำเลนี้ตลอดเวลา เชื่อว่าคนเดิมๆ จะถูกย้ายออก และมีคนใหม่เข้ามา เพราะ นักลงทุน เข้ามาหาซื้อตึกแถวเรื่อยๆ เช่นค่ายแสนสิริ ซื้อตึกแถวเก่า ต่อจากคุณหญิงท่านหนึ่ง สร้างเป็นคอนโดฯขายใกล้กับอาคารศรีศุภราช หรือตั้งอยู่ด้านหน้า บ้านอยู่อาศัยของตนเอง ทำให้รู้สึกอึดอัด ขณะราคาที่ดินจากเมื่อก่อนเป็นทุ่งนา ทุ่งเลี้ยงควายราคาไร่ละไม่กี่บาทไม่มีใครอยากได้ แต่ปัจจุบันราคาสูงกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา เนื่องจาก มีรถไฟฟ้า มีโรงพยาบาลเปาโลสะพานควาย ห้างบิ๊กซีที่สำคัญใกล้สถานีกลางบางซื่อ

ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ สะท้อนว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ เริ่มเคลื่อนไหวให้เห็นแล้วทั้งในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย และพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต โดยพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสะพานควายจะมีโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มศรีศุภราชที่มีทั้งพื้นที่สำนักงาน พื้นที่ค้าปลีกและโรงแรม

อีกทั้งยังมีโรงภาพยนตร์เก่าที่มีที่ดินขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนมือในอนาคต พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิตเป็นอีกพื้นที่ที่มีโครงการมิกซ์ยูสที่มีแผนจะพัฒนาอยู่ในพื้นที่ โครงการบางกอก เทอร์มินัลที่มีทั้งโรงแรม พื้นที่สำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และสถานีขนส่งที่แม้ว่าจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมแต่ก็ยังคงไม่ได้มีการยกเลิกโครงการไป โครงการเดอะยูนิคอร์นโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มซิโน-ไทยที่มีทั้งพื้นที่สำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และศูนย์กีฬาที่คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2563

กลุ่มสิงห์เอสเตทที่เป็นเจ้าของอาคารซันทาวเวอร์มีการเช่าและซื้อที่ดินโดยรอบเพื่อพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน อาคารจอดรถ ศูนย์อาหาร ซึ่งทั้งศูนย์อาหารเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนอาคารจอดรถเปิดให้บริการบางอาคารแล้ว จากความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนต่างๆ จะเห็นได้ว่าพื้นที่รอบๆ สถานีกลางบางซื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตามความคืบหน้าของสถานีกลางบางซื่อ และคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากภาคของน่วยงานราชการและเอกชน

 

‘แยกสะพานควาย’ ฮอต

ที่ดินวาละ1ล้านอัพ       

การพัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อนอกจากทำให้เกิดศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศไทยแล้วยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อด้วยเพราะการพัฒนาศูนย์กลางคมนาคมทางรางขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนั้นไม่เพียงแต่การก่อสร้างอาคารสถานีเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ยังมีการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบต่างๆ เพื่อสำหรับคนที่เข้าใช้บริการสถานี อีกทั้งยังต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อให้ที่เข้ามาใช้บริการมีความสะดวกสบายหรือไม่ลำบากเกินไป เช่น พื้นที่พาณิชยกรรม หน่วยงานราชการ ที่พักทั้งแบบโรงแรม อพาร์ทเม้นต์ รวมไปถึงคอนโดมิเนียม ซึ่งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อนี้เป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่สร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่โดยรอบ

จากการวิเคราะห์ของ นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ระบุว่า พื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อส่วนใหญ่เป็นที่ของหน่วยงานราชการทั้งการรถไฟแห่งประเทศ ไทย ราชพัสดุ หรือกรมธนารักษ์ ดังนั้น จึงแทบไม่มีโครงการพัฒนาของภาคเอกชนเกิดขึ้นในพื้นที่เลย ยกเว้นโครงการที่เช่าที่ดินของหน่วยงานราชการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โครงการของภาคเอกชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะกระจายออกไปในพื้นที่โดยรอบที่เป็นที่ดินของเอกชน

ดังนั้น ราคาซื้อขายที่ดินในพื้นที่โดยรอบจึงปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยพื้นที่รอบๆ ห้าแยกลาดพร้าวและสถานีรถไฟฟ้าสะพานควายเป็นพื้นที่ได้รับความสนใจมีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการคอนโด มิเนียมกันหลายโครงการส่งผลให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูงโดยบางแปลงในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าสะพานควายปิดการขายไปที่ราคามากกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา หรือบอกขายกันที่มากกว่า 1.3 ล้านบาทต่อตารางวาขึ้นไป 

พื้นที่รอบห้าแยกลาดพร้าวเช่นกันที่ราคาขายของที่ดินไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาไปแล้ว แต่พื้นที่รอบๆสถานีรถไฟฟ้า สะพานควายมีการปรับขึ้นของราคาที่ดินมากกว่า เนื่องจากมีผู้ประกอบการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,501 วันที่  5-7 กันยายน 2562 

                          บิ๊กอสังหากวาดเรียบ  6 โรงหนัง สะพานควาย