เร่งกู้ภาพลักษณ์ AOT ปลอด 'ธนกิจการเมือง'

31 ส.ค. 2562 | 04:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.2562

 

เร่งกู้ภาพลักษณ์AOT

ปลอด 'ธนกิจการเมือง'

 

          ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำนิยาม “ธนกิจการเมือง” มาจากคำว่า “Money Politics” เรียกง่ายๆคือ “การเมืองแบบเงินตรา” หรือ “ธุรกิจการเมือง” ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักการเมืองหรือนักธุรกิจใช้เงินตราไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่สามารถดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนเองหรือธุรกิจของพวกพ้อง ทั้งในรูปแบบของการฟื้นฟูการลงทุนไปจนกระทั่งการหากำไรจากการได้รับค่าเช่าและรายได้จากค่าเช่าต่างๆ เช่น ใบอนุญาต การสัมปทานหรือการอุดหนุน เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาจะสูงกว่าภายใต้สภาวะของการแข่งขันปกติ นอกจากนี้ยังมีการแสวงหาสินบนและการปรับใช้งบประมาณปกติเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ถึงที่สุดแล้ว ความมั่งคั่งและผลประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมเหล่านี้จะถูกนำกลับไปใช้ลงทุนในทางการเมืองเพื่อขยายเขตอำนาจของตนอีกต่อหนึ่ง

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด 22,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 698,753 ล้านบาท เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจของไทยที่ถูกจับตา ตรวจสอบและตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในหลายโครงการ โดยเฉพาะการลงทุนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเป็นโครงการถมทราย วงเงิน 7,800 ล้านบาท การประมูลก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 วงเงิน 54,000 ล้านบาท การจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) วงเงิน 2,608 ล้านบาท รวมถึงการดำเนินโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

          ล่าสุดหลังจาก AOT ตัดสินใจ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตั้งเต็นท์บริเวณประตู 1 ทางเข้า “เซ็นทรัล วิลเลจ” ลักชัวรี เอาต์เลต เข้า-ออก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หลังจากซีพีเอ็น ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกฯ พร้อมยื่นฟ้อง AOT กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิด เป็นเหตุให้ซีพีเอ็นได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ต่อศาลปกครองกลาง ล่าสุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ AOT เปิดทางเข้าเซ็นทรัลวิลเลจ

          ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาพลักษณ์และธรรมาภิบาล ของ AOT อย่างหนัก เพราะแทนที่ AOT จะจัดการปัญหาด้วยการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กลับเลือกที่จะใช้กำลังปิดล้อม จนทำให้เกิดคำถามจากสังคมตามมาว่าการดำเนินการดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์สัมปทานของเอกชนบางรายที่มีความสนิทกับนักการเมืองบางกลุ่มที่มีอำนาจกำกับดูแลหรือไม่ เราเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ AOT ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ผ่านกระทรวงการคลัง จะต้องเร่งปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กรให้มีความโปร่งใส ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Big Story สงคราม 'ทอท.-เซ็นทรัลฯ'