บุกพิสูจน์สิทธิ์ หลักแดนเจ้าปัญหา ‘ลํ้า-ไม่ลํ้า’ เขตทาง 370

31 ส.ค. 2562 | 23:45 น.

จุดหมายปลายทาง ใหม่แห่งการช็อปปิ้งระดับเวิลด์คลาสที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ บทนำที่สื่อถึงโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ลักชัวรี เอาต์เลต แห่งแรกของไทย ในเครือเซ็นทรัล ซึ่งเร่งสร้างเพื่อให้เปิดทันตามกำหนดวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้ ต้องหยุดชะงักลง เมื่อทาง บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นำเต็นท์และแบร์ริเออร์มาตั้งขวางทางเข้า-ออกโครงการ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งอ้างว่าการตัดหินทางเท้าทำทางเข้า-ออกโครงการ เป็นการรุกลํ้าที่ดินราชพัสดุที่ ทอท. เป็นผู้ดูแล

ฝั่ง ทอท.นำป้ายมาติดริมถนนสาย 370 ก่อนถึง  เอาต์ เล็ตว่าเป็น “พื้นที่ครอบครองของ AOT ห้ามผู้ใดบุกรุก มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด” ขณะที่คู่พิพาทอย่างเซ็นทรัลพัฒนาขึ้นป้ายเช่นกันด้วยประโยคว่า “โครงการนี้ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน มิได้รุก ลํ้าพื้นที่ผู้ใด” แล้วแบบนี้อะไรคือตัวชี้วัด หลักแดนหรือเปล่าคือคำตอบ

บุกพิสูจน์สิทธิ์ หลักแดนเจ้าปัญหา ‘ลํ้า-ไม่ลํ้า’ เขตทาง 370 บุกพิสูจน์สิทธิ์ หลักแดนเจ้าปัญหา ‘ลํ้า-ไม่ลํ้า’ เขตทาง 370

 

ทางเซ็นทรัลพัฒนายื่นหนังสือชี้แจงในทันทีโดยเผยว่า ถนนหมายเลข 370 เป็น “ทางหลวงแผ่นดิน” ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมทางหลวง และเป็นสาธารณสมบัติที่ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน พร้อมกันนี้ยังยืนยันอีกว่า การขออนุญาตตัดหินทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออก เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดิน ที่สำคัญยังปักธงว่าโครงการนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์แต่เพียงธุรกิจยังสร้างงาน สร้างการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกมาก

 

ด้าน ทอท. ก็ตอบโต้ทันควัน แม้กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ แม้จะไปขออนุญาตกับกรมทางหลวง ซึ่งกรม คิดว่ามีอำนาจเลยอนุญาตโดยบริสุทธิ์ใจ แต่จริงๆ อำนาจการอนุญาตเป็นของ ทอท. เพราะมีประกาศกรมธนารักษ์ให้อำนาจ ทอท.จัดการกับผู้บุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวได้ ไม่เพียงเท่านั้นด้วยทำเลของโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ใกล้กับสนามบินเพียง 10 นาที และอยู่แนวเดียวกับการร่อนขึ้นของเครื่องบิน ทอท.จึงทำหนังสือไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยด้านการบินและนักบินหรือไม่ ตาม พ.ร.บ. เดินอากาศ โดยเฉพาะในมิติของความปลอดภัย และในที่สุดเรื่องดังกล่าวร้อนถึงศาลปกครอง

 

ทีมข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่วันที่ 29 สิงหาคม 2562  พิสูจน์ความจริง ร่วมกับสหภาพแรงงาน ทอท.โดยมีนายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ ในฐานะประธานสหภาพฯพาเดินสำรวจพร้อมกับชี้แจงว่า ในรัศมี 10 กม. บริเวณที่ตั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 นับจากสนามบินจนถึงถนนบางนา-ตราดพบว่า หลักหมุดที่ดินถูกกลบทับไปหลายจุด มีการทำทางเชื่อมชั่วคราวบนที่ดินลำรางสาธารณะที่ทางทอท.ดูแล ซึ่งผมก็ยังไม่ขอยืนยันว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่ แต่จากการดูด้วยสายตาก็เชื่อได้ว่าเป็นที่เดียวกัน ก็ขอให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย”

 

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ทาง สหภาพแรงงาน ทอท.กังวล รวมทั้งเป็นเรื่องสำคัญคือ ความปลอดภัย โดยตั้งคำถามตัวโตๆในมิติดังกล่าวไว้ 5 ข้อ พร้อมกับเตรียมร่อนหนังสือสอบถามถึงความเห็นของสมาคมนักบินแห่งประเทศไทยและต่างประเทศว่า ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ในการบินหรือไม่อย่างไร เพื่อร่วมหาทางออก แนวทางแก้ไข ที่สมดุลในทุกภาคส่วน

จากนี้ลํ้าหรือไม่ลํ้า คงได้บทสรุป แต่การตกผลึกจากกรณีดังกล่าว ได้บทเรียนที่หลายฝ่ายจะต้องไปศึกษาว่า ตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ครอบคลุมหรือมีช่องว่างมากน้อยเพียงใด นี่ใช้การแข่งขันเพื่อธุรกิจหรือเปล่า หรือหลังแนวกั้นมีอะไรซ้อนอยู่อีกมากมายที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ทราบ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3501 ระหว่างวันที่ 1 - 4  กันยายน 2562