หวั่นอสังหาซึมยาว  ลุ้นรัฐกระตุ้น  บิ๊กเนมลดเป้ายอดขาย-รายได้

02 ก.ย. 2562 | 23:35 น.

อสังหาฯ ครึ่งปีหลังหนักแน่ ลุ้นรัฐบาลออกมาตรการช่วยกระตุ้นยอดขาย ภายในไตรมาส 4 หาไม่ตลาดซึมยาวถึงปี 2563 บริษัทชั้นนำ พฤกษา, แอลพีเอ็น, คิวเฮ้าส์ และแสนสิริ ปรับลดเป้า มูลค่าโครงการใหม่

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ยังต้องลุ้นต่อไป จากปัจจัยลบที่รุมเร้าอยู่ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นโยบายคุมสินเชื่อบ้านกับมาตรการ LTV ฉุดกำลังซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกแรงอย่างมาก เพื่อผลักดันยอดขาย รายได้และกำไรให้เติบโตตามเป้าหมาย

สะท้อนจากผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ที่ผ่านมา บริษัทชื่อดังหลายราย ทำยอดขาย รายได้และกำไร เติบโตเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกบริษัทเน้นระบายสินค้าที่สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่มากกว่าเปิดขายโครงการใหม่ๆ นอกจากนี้โครงการใหม่ๆที่ออกสู่ตลาดจะเป็นบ้านแนวราบมากกว่าคอนโดมิเนียมที่มีอยู่ล้นตลาด และทุกโครงการจะต้องทำการตลาดอย่างละเอียดรอบคอบ ตรงเข้าเป้าความต้องการของลูกค้า

ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งบกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้มีเงินจับจ่ายหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ล่าสุดช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรหลัก ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นดัชนีเศรษฐกิจสำคัญตัวหนึ่ง กลับไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาช่วยกระตุ้นบ้างเลย ดังนั้นครึ่งปีหลังที่เหลือจึงเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมาก

หวั่นอสังหาซึมยาว  ลุ้นรัฐกระตุ้น  บิ๊กเนมลดเป้ายอดขาย-รายได้

 

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยฯ รายงานว่าหลังประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 สะท้อนยอดขายและรายได้จากการขายที่อ่อนแอในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง บริษัทอสังหาฯ 4 รายมี บมจ. แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ (LPN) บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PSH) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) และบมจ.แสนสิริ (SIRI) ปรับลดเป้ามูลค่าโครงการใหม่ ส่งผลให้มูลค่าโครงการใหม่รวมของกลุ่มอสังหาฯ 9 รายในปี 2562 ปรับลดลง 12.3% จากเป้าตัวเลขเดิมที่ตั้งไว้ในปีนี้ คือ 321,854 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังปรับเป้ายอดขายและรายได้จากการขายในปี 2562 ลง 8.5% และ 3.4% ตามลำดับ โดย LPN ปรับลดเป้ายอดขายมากที่สุดถึง 49.1% SIRI 16.7%, LH 12.7%, QH 8.8% ด้านรายได้ LPN ปรับลดลงมากที่สุดถึง 16.7% รองลงมา QH 8.5% และ LH 6.3%

 

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายอดขายคอนโดมิเนียมค่อนข้างเงียบ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นใดๆ ออกมาช่วย ตลาดอาจจะซึมยาวถึงปีหน้า แต่ถ้าช่วงครึ่งปีหลังนี้มีมาตรการกระตุ้น ก็จะช่วยปลุกกำลังซื้อให้มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น โดยต้นปี 2563 จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

เนื่องจากในปีหน้า ... ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ กระทบต่อผู้ซื้อทั้งที่ซื้ออยู่อาศัยเองและปล่อยเช่า ต้องรับภาระภาษีถ้วนหน้า ขณะที่มาตรการคุมเข้มสินเชื่อบ้านนอกจาก LTV แล้วยังมีมาตรการ DSR เพิ่มเข้ามา สำหรับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ถ้ายังขายไม่หมดหรือไม่ปิดโครงการ เจ้าของโครงการก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย

ช่วง 2-3 ปีก่อนตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯได้กำลังซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะจีนช่วยพยุง แต่ตอนนี้ผู้ซื้อกลุ่มนี้หันไปซื้อโครงการในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต และพัทยา ที่ยังให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ที่สำคัญบางโครงการเจ้าของการันตีผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อ จึงดึงดูดลูกค้าต่างชาติได้ดี

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562 

                      หวั่นอสังหาซึมยาว  ลุ้นรัฐกระตุ้น  บิ๊กเนมลดเป้ายอดขาย-รายได้