กูรูติวเข้มรัฐ-เอกชน พลิกวิกฤติเทรดวอร์ โอกาสไทยรุกจีน

30 ส.ค. 2562 | 04:25 น.

 

สัมภาษณ์

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ส่งผลเศรษฐกิจและการค้าโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน กระทบส่งออกไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 1.9% ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ยังติดลบที่ 7.5% จากสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีนที่นำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยไปผลิตส่งออกต่อไปสหรัฐฯใน 5 หมวดหลักได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไร้ข้อยุติ การทำการค้าของไทยกับจีนนับจากนี้จะต้องดำเนินการในเชิงรุกเพื่อกอบกู้สถานการณ์ให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้อย่างไรนั้นถือเป็นการบ้านของทุกฝ่าย

 

กูรูติวเข้มรัฐ-เอกชน พลิกวิกฤติเทรดวอร์ โอกาสไทยรุกจีน

                                            โจ ฮอร์น พัธโนทัย

 

 

ต้องเป็นซัพพลายเชนที่โดดเด่น

นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยุทธศาสตร์ 613 จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุนระหว่างประเทศ(ไทย-จีน) ผู้ครํ่าหวอดในตลาดจีนมายาวนาน เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามการค้าครั้งนี้กระทบต่อไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคาดจะมีการย้ายหรือขยายฐานการลงทุนของธุรกิจต่างชาติในจีนและสหรัฐฯออกมาข้างนอกมากขึ้น โดยมองหาประเทศที่สามารถส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯโดยเสียภาษีในอัตราปกติ หรือได้สิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนสนใจ

ส่วนด้านลบคือปริมาณการค้าของไทยกับจีน และสหรัฐฯ (คู่ค้าอันดับ 1 และ 3 ของไทยตามลำดับ) จะลดลงเนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน)ของการผลิต โดยส่วนหนึ่งไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไปทั้งสหรัฐฯและจีน เพื่อไปผลิตส่งออกต่อ เมื่อการค้าขยายตัวลดลง การนำเข้าก็จะลดลง

 

กูรูติวเข้มรัฐ-เอกชน พลิกวิกฤติเทรดวอร์ โอกาสไทยรุกจีน

“สิ่งที่ไทยต้องเร่งปรับตัวท่าม กลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งสงครามการค้า ความผันผวนของค่าเงิน ไทยซึ่งเป็นซัพพลายเชนของการผลิตจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นตัวเลือก(solution of pain point)ที่โดดเด่นของผู้ผลิตในจีนและสหรัฐฯ และต้องอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่ไทย”

ในขั้นแรกไทยจำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่สามารถทำงานในบริษัทจีนได้ โดยเฉพาะเรื่องภาษา และเรียนรู้ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของจีน อีกทั้งยังต้องปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้เอื้ออำนวย และจูงใจนักธุรกิจต่างชาติในการเข้ามาประกอบกิจการและจัดตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น การแก้กฎระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมายของการเข้ามาทำงานในไทยของแรงงานมีฝีมือต่างชาติให้รวดเร็วและสะดวกขึ้น เพราะปัจจุบันไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากที่สุดในโลกสำหรับการเข้ามาทำงานของผู้บริหารและแรงงานต่างชาติ

 

 

เร่งยุทธศาสตร์รุกจีนในองค์รวม

สำหรับตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญของไทยและมีโอกาสในการเจาะตลาดจีนอีกมาก แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องมียุทธศาสตร์จีนหรือ China 
Plan ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับจีนแต่ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่เข้ามาบุกตลาดในไทย เพราะปัจจุบันการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์สามารถทำให้ทุกอย่างง่าย ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย

ขณะที่รัฐบาลไทยควรจะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์จีนแบบองค์รวมในเชิงรุกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ขณะที่ต้องมียุทธศาสตร์ในการปกป้องตลาดและผู้ผลิตท้องถิ่นของไทยจากการรุกเข้ามาของสินค้าและธุรกิจจีนรวมไปถึงการวางระบบเศรษฐกิจการเงินในยุคดิจิทัล ด้านภูมิรัฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ทั้งผู้ประกอบการและรัฐบาลไทยยังไม่พร้อมที่จะมีแผนในการรองรับโอกาสและความท้าทายจากจีน รัฐบาลไทยยังดำเนินการจัดการต่างๆ แบบแยกส่วนแยกกระทรวง ยังไม่มียุทธศาสตร์กับจีนในภาพใหญ่ที่ชัดเจน รวมถึงขาดการกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ดังนั้นยุทธศาสตร์จีนจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำต้องนำมาพิจารณาใหม่ เพื่อขับเคลื่อนให้มีทิศทางมากขึ้น”

ดังนั้นจำต้องนำภาพทุกมิติเหล่านี้มาหล่อหลอมรวมกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและความเข้าใจในองค์รวมต่อประเทศ ขณะคู่แข่งในตลาดจีนที่น่ากลัวสำหรับไทย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หากไทยยังไม่ปรับตัวและอยู่บนความคิดและการกระทำในรูปแบบเดิม เชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านจะแซงลํ้าหน้าไทยไปอย่างแน่นอน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,500 วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562

กูรูติวเข้มรัฐ-เอกชน พลิกวิกฤติเทรดวอร์ โอกาสไทยรุกจีน