“เพื่อไทย”กล้ามั้ย? เฉดหัว 2 ส.ส.พ้นพรรค

25 ส.ค. 2562 | 08:10 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3499 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 25-28 ส.ค.2562 โดย... ว.เชิงดอย

“เพื่อไทย”กล้ามั้ย? 
เฉดหัว
2 ส.ส.พ้นพรรค


          “ทำอย่างนี้มันหยามหน้ากันชัดๆ” เรื่องอะไรนะหรือ? ก็เรื่องที่ “3 ส.ส.อีสาน” ของพรรคเพื่อไทย ดันไป “มีใจ” ให้ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและรมว.กลาโหม นะสิ ทำเอา “เสี่ยโจ้-ยุทธพงศ์จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน ถึงกับ “เป็นเดือด-เป็นแค้น” ยื่นเรื่องต่อสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและจริยธรรม กับ ตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล และครูมานิตย์ สังข์พุ่ม 2 ส.ส.สุรินทร์ของพรรค โดยแนบคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.สุรินทร์ ในวันที่มีการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ปัญหาภัยแล้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา
          ในวันนั้น มีส.ส.เพื่อไทยไปต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ลงพื้นที่สุรินทร์ 3 คน ประกอบด้วย ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล และคุณากร ปรีชาชนะชัย แต่ประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้กับ ยุทธพงศ์ อย่างมากคือ ครูมานิตย์ ได้ไปต้อนรับ และบอกกับบิ๊กตู่ ว่า “ยกมือให้นายกฯล้านเปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการลงชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ผมยังบอกว่าลงทำบ้าอะไร พวกมึงบ้าหรือเปล่า เขายังไม่ทำอะไรไปลงชื่อกันแล้ว ไปดูได้เลย ไม่มีชื่อผม” 
          ยุทธพงศ์ อ้างถึงเหตุผลที่เรียกร้องให้พรรคสอบส.ส. 2ใน 3  คน โดยชี้ว่าเป็นการทำผิดข้อบังคับพรรค ข้อ 113 เรื่องสมาชิกมีหน้าที่รักษาวินัย และจริยธรรมโดย (2) ต้องยึดมั่นในเจตนารมณ์ อุดมการณ์และนโยบายของพรรค และ (7)  ไม่กระทำการใดๆอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของพรรคและภาพลักษณ์ ส่วนที่ไม่เรียกร้องให้สอบ คุณากร ปรีชาชนะภัย ที่ไปต้อนรับนายกฯ ด้วย เพราะไม่ได้มีการพาดพิงถึงพรรค แต่พฤติกรรมของทั้งครูมานิตย์ และตี๋ใหญ่ เป็นพฤติกรมที่เสื่อมเสียชื่อเสียงและจริยธรรมของความเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง เพราะส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปนายกฯ โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งเป็นวิถีทางประชาธิปไตย และต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล แต่พฤติกรรมของส.ส.ดังกล่าว กลับใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยาม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยด้วยถ้อยคำรุนแรง

          สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมและความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องเอกสิทธิ์ของส.ส.ว่าทำอย่างไรจะให้อยู่ในขอบเขตและแนวทางของพรรคส่วนที่ส.ส.สุรินทร์ชี้แจงว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นลีลาในพื้นที่ สมพงษ์ ระบุว่า “ผมได้รับทราบแต่บางเรื่องถือว่าเกินเลย”
          เรื่องนี้น่าสนใจว่า “เพื่อไทย” กล้าพอที่จะ “ขับ” ส.ส.ทั้ง 2 คนออกจากพรรคหรือไม่? แต่“ฟันธง”ตรงนี้ไว้เลยว่า “ไม่กล้า!!!” เพราะอะไรนะรึ ก็เพราะหากพรรคมีมติ “ขับ” ส.ส.ออกจากพรรค เขาก็สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน ดั่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) ระบุถึงความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ“พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว”
          เอาซิ...กล้ามั้ยล่ะ เล่นงานเขา แต่เขา “ไม่ตาย” ยังหาพรรคสังกัดใหม่ได้ แถมจะเป็นการไปเพิ่มคะแนนเสียงให้กับ “รัฐบาลลู่งตู่” ที่อยู่ในภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ” ได้มีคะแนนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นที่ “พออก-พอใจ” สำหรับส.ส.ที่ถูกขับออกก็เป็นได้ เนื่องจากมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ใครที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล แม้กระทั่งผู้สมัครส.ส.ที่สอบตก ยังได้ดิบได้ดีตั้งให้นั่งในตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ และที่สำคัญมี “ซานตาคลอสสีเขียว” ใจป้ำคอยส่ง “ท่อน้ำเลี้ยง” ครั้งละ“2 ปึก” เรียกได้ว่า “ไม่อดอยากปากแห้ง” ก็แล้วกัน ผิดกับการเป็นฝ่ายค้าน ที่ “ท่อน้ำเลี้ยงตัน”

          หันไปดูอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือเรื่องที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน จะประชุมพิจารณากันในวันอังคารที่ 27 สิงหาคมนี้ ก่อนจะสรุปความเห็นออกมา 
          ที่ผ่านมาทางผู้ตรวจการฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับผู้กล่าวหา ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ นายกฯ ก็ได้มอบหมายให้ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกฯ ส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไปถึงผู้ตรวจฯ แล้ว เป็นการชี้แจงไปแบบสั้นๆได้ใจความตามระเบียบและขั้นตอน โดยผู้ตรวจการฯ ไม่ได้มีการตั้งคำถาม เพียงแต่ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ...กรณีนี้หากไปถึงมือศาลและชี้ออกมาว่า ปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้  แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ แต่ก็จะเป็น “ช่อง” ให้ “ฝ่ายค้าน”หยิบยกไปเป็นข้ออ้างเรียกร้องหา “สปิริต”ความรับผิดชอบจาก “นายกฯลูงตู่” ได้นั่นเอง...