มหาอํานาจโลก เร่งอัดฉีดมาตรการฟื้นศก.

24 ส.ค. 2562 | 16:10 น.

รัฐบาลชาติมหาอำนาจโลกทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นมาตรการลดภาษี-ค่าธรรมเนียม รวมถึงการลดดอกเบี้ย เพื่อหวังสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในภาพรวมกำลังชะลอตัวลงในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการว่า ภาวะสงครามการค้าที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะคลี่คลายคือตัวแปรหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ อัตราเพียง 3.2% ลดจากเดิมที่คาดไว้ 3.3% โดยหลายประเทศสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งมหาอำนาจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปอย่างเยอรมนี ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางหลายประเทศเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมารับมือ

มหาอํานาจโลก  เร่งอัดฉีดมาตรการฟื้นศก.

แม้กระทั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังแข็งแกร่งและห่างไกลภาวะถดถอย ก็ยังเสนอแผนการจะลดภาษีค่าจ้าง (payroll tax) เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของคนทำงาน นอกจากนี้ยังกำลังมองหาความเป็นไปได้ที่จะลดภาษีอื่นๆ รวมทั้งภาษีกำไรจากการลงทุน (capital gains tax) ผู้นำสหรัฐฯยังกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งลดดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นและลดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เป็นที่จับตาว่าในการกล่าวเปิดงานประชุมประจำปีธนาคารกลางสหรัฐฯที่เมืองแจ๊กสันโฮล มลรัฐไวโอมิง ว่าด้วยเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจในวันนี้ (23 ส.ค.) นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงอีกมากน้อยเพียงใด

ขณะที่จีน คู่ปรับของสหรัฐฯในสงครามการค้าที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในเวลานี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอแล้วอย่างชัดเจนและไอเอ็มเอฟก็ประมาณการว่า เศรษฐกิจจีนจะโตที่ระดับเพียง 6.2% ในปีนี้ ซึ่งตํ่าสุดเท่าที่เคยเป็นมา และยังมีแนวโน้มจะลดลงได้อีกสู่ระดับ 6.0% ในปีหน้า รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้นปี เน้นแผนปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียม มูลค่ากว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รายละเอียดดังภาพประกอบ) เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ล่าสุดในเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคารกลางจีนได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมเป็นการปฏิรูปกลไกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate : LPR) เพื่อทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทเอกชนปรับลดลง เริ่มมีผลบังคับใช้ในทันที

ทางฝั่งสหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า จะมีการใช้มาตรการคิวอีกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนอกจากจะมีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติสมาชิกเพิ่มขึ้นแล้ว คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 0.10% ด้านนายโอลาฟ ชอลซ์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู และประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวแล้ว 0.1% ในไตรมาส 2/2562 เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกันราว 50,000 ล้านยูโร แต่ขอรอดูสถานการณ์ก่อนว่า จำเป็นต้องใช้หรือไม่ ทั้งนี้ หากไตรมาสหน้า เศรษฐกิจเยอรมนียังหดตัวต่อเนื่อง ก็จะถือว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยทางเทคนิค แม้ว่าบุนเดสแบงก์ หรือ ธนาคารกลางเยอรมนี จะออกมาแถลงว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่รัฐบาลก็พร้อมจะนำมาตรการกระตุ้นมาใช้หากถึงคราวจำเป็น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

มหาอํานาจโลก  เร่งอัดฉีดมาตรการฟื้นศก.