สศก. ชู ศกอ.ตัวอย่าง หันทำเกษตรผสมผสาน

28 มี.ค. 2559 | 04:58 น.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชูตัวอย่างเกษตรกรหัวก้าวหน้า ตัวแทนเศรษฐกิจการเกษตรอาสา  จ.อุบลราชธานี (นายพนม พิมพ์รัตน์) กับผลงานแนวคิดการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ผัน เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในน้ำจืดเป็นผลสำเร็จนำร่องในเขตอีสานใต้ ด้าน สศก. เตรียมผลักดันขยายผลสู่เกษตรกรผู้ที่สนใจผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ของนายพนม พิมพ์รัตน์ ศกอ. อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พร้อมพบปะเกษตรกรผู้เข้ารับการอบรมโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา

สำหรับ นายพนม พิมพ์รัตน์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี นับว่าเป็นต้นแบบของการทำการเกษตรผสมสานที่มีความยั่งยืนทั้งในด้านอาชีพ และความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่คนในชุมชนตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งได้พลิกผันวิถีชีวิตจากการทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นที่จะรวย รับจ้างผลิตให้บริษัท เปลี่ยนมาเป็นการทำการแบบผสมผสานโดยการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเป็ดไข่ ทำนาบัว นาข้าว เลี้ยงปลาในนาข้าว มะม่วงนอกฤดู ซึ่งทุกอย่างที่เพาะปลูกและที่เลี้ยงใช้เทคนิคพึ่งพาอาศัยกันและกัน

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการทำเกษตรผสมผสานแล้ว คุณพนม ยังมีแนวคิดในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในบ่อน้ำจืดอีกด้วย (ปกติเลี้ยงในน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย) ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้นำร่องในเขตภาคอีสานใต้ โดยได้เริ่มมีการเลี้ยงกุ้งมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยเริ่มแรกเป็นการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ต่อมาในรุ่นที่ 2 ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในบ่อเดียวกันกับกุ้งกุลาดำ ซึ่งได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ โดยกุ้งขาวแวนนาไมจะเจริญเติบโตดีกว่ากุ้งกุลาดำและเก็บผลผลิตได้เร็วกว่า อันเป็นผลมาจากกุ้งขาวไม่จำเป็นต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเหมือนกุ้งกุลาดำ  อีกทั้งกุ้งขาวแวนนาไมจะกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ที่อยู่ในบ่อได้อีก เช่น สาหร่าย แพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน

ทั้งนี้ กุ้งขาวแวนาไมที่เลี้ยงและโตได้ขนาดประมาณ 50 ตัวต่อกิโลกรัม ขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 300 บาท ซึ่งราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อใจในเรื่องความปลอดภัย สำหรับรุ่นที่ 3 นี้ คุณพนม ได้ปล่อยลูกกุ้งขาวแวนนาไมอย่างเดียวทั้งหมด 50,000 ตัว เมื่อเดือนมกราคม และในเบื้องต้นพบว่า มีการเจริญเติบโตดี คาดว่าสามารถขายได้ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งหากการทดลองเลี้ยงในครั้งนี้ได้ผล ก็จะนำมาขยายผลให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงต่อไป โดยเกษตรกรที่สนและอยากพูดคุยขอคำแนะนำการทำเกษตรกรผสมผสานหรือเทคนิคการเลี้ยงกุ้งขาวแวนาไมในบ่อน้ำจืดกับ นายพนม พิมพ์รัตน์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สามารถติดต่อได้ที่ 143 หมู่ 5 ต.ตาลสุม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี 34330