นับถอยหลังปี 2566 ก้าวสู่... มหานครระบบราง

24 ส.ค. 2562 | 03:00 น.

มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2566 หรืออีกประมาณกว่า  4 ปีนับจากนี้ เมื่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระยะที่ 1 (M-Map1) สำเร็จ จะส่งผลให้เส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความยาวรวมถึง 464 กม. โดยพร้อมก้าวสู่การเป็นมหานครระบบรางที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก หลังมีเพียงรถไฟฟ้าบีทีเอส และ ใต้ดิน สายสีนํ้าเงินเอ็มอาร์ที ก่อนจะเอาจริงเอาจัง เดินหน้าก่อสร้างส่วนต่อขยายและเส้นทางใหม่ๆ กระจายทั่วกทม.และปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ

 

ล่าสุดไปสำรวจเส้นทางพร้อมๆ กันว่า นับตั้งแต่ปี 2562 ไปจนถึงปี 2566 จะมีรถไฟฟ้าเส้นไหนเปิดให้บริการ เริ่มจากส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ “ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต หลังคิกออฟสถานีห้าแยกลาดพร้าว ก็จะทยอยเปิดให้บริการสถานีอื่นตามมา เช่นเดียวกับส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน” ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่คาดกันว่าจะเป็นแกนเชื่อมระหว่างใจกลางเมืองไปสู่ฝั่งธนฯ โดยเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยวของต่างชาติ

ขณะเส้นที่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง “สายสีชมพู ช่วงแคราย- มีนบุรี วิ่งจากถนนรัตนาธิเบศร์ด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ไปสิ้นสุดที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารได้ 4 จุด คือ สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต และสายสีส้มตะวันออกที่พร้อมให้บริการในปี 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายที่จะเชื่อมการเดินทางจากนนทบุรีเข้าสู่ กทม.ได้อย่างฉับไว

นับถอยหลังปี 2566 ก้าวสู่... มหานครระบบราง

เช่นเดียวกับ “สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง จุดเชื่อมต่อกับสายสีนํ้าเงิน สถานีลาดพร้าว วิ่งตามแนวถนนลาดพร้าวไปสิ้นสุดที่แยกเทพารักษ์หรือสถานีสำโรง มีจุดเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี เชื่อมต่อกับสถานีหัวหมากของแอร์พอร์ตลิงค์, สายสีแดงอ่อน และสายสีเขียวใต้ ในสถานีปลายทาง

 

ด้าน “สายสีแดงเข้ม” ช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิ ปทุมธานี อยุธยา มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ อีกเส้นทางที่น่าสนใจ คือสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน-ประชาธิปก โมโนเรลระยะสั้นสร้างเชื่อม “ไอคอนสยาม” และการเดินทางบนถนนเจริญนคร ไปจนถึง ถนนสมเด็จ เจ้าพระยาเชื่อมต่อกับ บีทีเอสสายสีเขียว ส่วนต่อขยายจากสถานีกรุงธนบุรี คาดว่าแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 (กรุงธนบุรี-คลองสาน) ในปี 2563 นี้

“สายสีส้มตะวันออก” ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เชื่อมต่อกับสายสีนํ้าเงินและสายสีชมพู รวมถึงสถานีลำสาลี เชื่อมต่อกับสายสีเหลือง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางเข้าเมืองง่ายขึ้น

จากการพูดคุยกับ นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เส้นทางหลักจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2570 และวางแผนแม่บทฉบับที่ 2 พัฒนาเส้นทางรองเพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปกทม.จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียนรวมทั้งเป็นมหานครระบบรางในอนาคตอันใกล้นี้ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3498 ระหว่างวันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2562