อภินิหารทองคำ ดันส่งออก ก.ค.พลิกบวกรอบ 5 เดือน

21 ส.ค. 2562 | 04:33 น.

ส่งออกไทยยังมีลุ้น ตัวเลขเดือนกรกฎาคม พลิกกับมาเป็นบวก ที่ 4.2 % ปัจจัยหลักจากส่งออกทองคำโตกระฉูดกว่า 400% ขณะผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง พาณิชย์ยอมรับงานหนัก อีก 5 เดือนที่เหลือต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,756 ล้านดอลลาร์ ส่งออกไทยถึงไม่ติดลบ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมว่า กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 4 .28% หรือกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 เดือน โดยมีมูลค่าส่งออก 21,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.67%  มูลค่านำเข้า 21,097ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไทนเกินดุลการค้าเดือนกรกฎาคม 110.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  อย่างไรก็ดีภาพรวมการส่งออก 7 เดือนของไทย ยังติดลบ1.91% โดยมีมูลค่าส่งออก 144,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 140,122 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขยายตัวลดลง 1.81% ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้า 4,053.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อภินิหารทองคำ  ดันส่งออก ก.ค.พลิกบวกรอบ 5 เดือน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกเดือนกรกฎาคมกลับมาเป็นบวก ปัจจัยหลักจาก มูลค่าการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น 406.9%และผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง ประกอบกับมีกลุ่มสินค้าศักยภาพใหม่มาทดแทน ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงชะลอตัวลงจากปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก

อภินิหารทองคำ  ดันส่งออก ก.ค.พลิกบวกรอบ 5 เดือน

ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือนกรกฎาคมกลับมาขยายตัวที่ 1.4%  ซึ่งสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.1% โดยขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และอินโดนีเซีย  ยางพารา ขยายตัว 9.6% ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 7.8%  ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์  ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 8.7% -ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และจีน  กุ้งสด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 7.3% ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และเมียนมา 

ส่วนสินค้าเกษตรที่ส่งออกติดลบ ได้แก่ ข้าวติดลบ 27.2%  ตลาดที่ติดลบ เช่น เบนิน มาเลเซีย และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน  ส่วนน้ำตาลทราย ติดลบ 25.4%  ตลาดที่ติดลบเช่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้  ส่วนทูน่ากระป๋อง ติดลบ 13.6% ในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแคนาดา แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ลิเบีย และซาอุดิอาระเบีย รวม 7 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 1.7%

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2  ที่ 6%  ซึ่งสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำขยายตัว 406.9% (จากราคาทองคำในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น) โดยขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย  ส่วนอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ขยายตัว 28%  โดยขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย และเบลเยียม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว4.2% ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และฝรั่งเศส

อภินิหารทองคำ  ดันส่งออก ก.ค.พลิกบวกรอบ 5 เดือน

 

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ติดลบ ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ติดลบ 14.2 %  ในตลาดจีน เวียดนาม สิงคโปร์  แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย   เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบ 5.9% ในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์เป็นต้น รวม 7 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 1.4%

อย่างไรก็ตามในส่วนของตลาดส่งออกสำคัญของไทยกลับมาขยายตัว โดยตลาดหลักขยายตัว 5.5%  ทั้งนี้สาเหตุมาจากการการส่งออกไปสหรัฐฯขยายตัว 9.8%  และญี่ปุ่นขยายตัว 8%  ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรป(อียู)ติดลบ 2.4%   ส่วนตลาดศักยภาพสูงติดลบ 2.8%  เนื่องจากการส่งออกไปยังคงติดลบ โดยอาเซียน(5) ติดลบ 8.5% CLMVติดลบ 9.7%  และเกาหลีใต้ติดลบ 3%

 ส่วนการส่งออกไปตลาดจีน ขยายตัว 6.2%  อินเดียขยายตัว 7.3%  และไต้หวันขยายตัว 12.9%  ในขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองกลับมาขยายตัวที่ 3.4%  โดยทวีปออสเตรเลียขยายตัว 20.8%  ตะวันออกกลางขยายตัว 5%  และแอฟริกาขยายตัว 1.5% ขณะที่การส่งออกไปตลาดรัฐและกลุ่มประเทศ CIS ยังคงติดลบ 23.2%

“ตลาดสหรัฐอเมริกา กลับมาขยายตัว 9.8%  หลังจากเดือนก่อนหน้าติดลบครั้งแรกในรอบ 3 เดือน  โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องส่งโทรศัพท์และโทรทัศน์ และข้าว เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปีนี้ตลาดสหรัฐฯขยายตัว 16.3 %”

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นที่การส่งออกเดือนกรกฎาคมขยายตัว 8%  ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และ ไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ 0.7%    ตลาดสหภาพยุโรป(15) ติดลบ 2.4%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องปรับอากาศฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และ ไก่แปรรูป ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ 6.4 %  ตลาดจีน ขยายตัว 6.2 % เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้งฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปฯ และ น้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ 7.6%

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 1.1%  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ1.8%    ตลาด CLMV ติดลบ 9.7%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย  ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ 2.3 %

ตลาดอาเซียน(5) ติดลบ 8.5%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย  เครื่องยนต์สันดาปฯ และ น้ำมันสำเร็จรูป ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2562  ติดลบ 8.3% เป็นต้น

อภินิหารทองคำ  ดันส่งออก ก.ค.พลิกบวกรอบ 5 เดือน

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การส่งออกสินค้าศักยภาพใหม่ที่หลากหลาย ทั้ง สินค้าเกษตร/อาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสำอาง อาหารสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร  การค้าส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯทดแทนสินค้าจากจีนอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4  และ การดำเนินแผนผลักดันการส่งออกโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่เล็งผลในระยะสั้นจะช่วยลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าและสนับสนุนให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น และการดำเนินนโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ โดยเฉพาะกลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง และเปิดตลาดใหม่ มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง

 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าศักยภาพใหม่ที่หลากหลาย ทั้ง สินค้าเกษตร/อาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เมื่อรวมกับแผนผลักดันการส่งออกโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศ น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวม และอาจทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในเดือนเหลือของปีนี้จะต้องส่งออกให้ได้ 21,756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีขยายตัวที่ 0%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เผยว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)ได้มีมติกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ไว้ที่ 3% และปี 2563 ที่ 3.5%