“สุเมธ”แจงลดเงินเดือนผู้บริหาร ไม่มีผลต่อพนักงาน เดินหน้าซื้อฝูงบินใหม่38 ลำ

19 ส.ค. 2562 | 10:49 น.

          การบินไทย แจงผู้บริหารร่วมลดผลตอบแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่มีผลกับพนักงานระดับปฎิบัติการ ทั้งยันแผนจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ มีความจำเป็น  แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนรัฐบาล และมีข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นการเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการซื้อ-ไม่ซื้อ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างทำข้อมูลเปรียบเทียบให้ชัดเจน เพื่อนำเข้าพิจารณาในบอร์ดอีกรอบ ก่อนเสนอเรื่องกลับไปยังกระทรวงคมนาคมต่อไป

“สุเมธ”แจงลดเงินเดือนผู้บริหาร ไม่มีผลต่อพนักงาน เดินหน้าซื้อฝูงบินใหม่38 ลำ

         นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวใน Social Media เรื่องขอความร่วมมือผู้บริหารการบินไทยพิจารณาลดเงินเดือนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือตามความสมัครใจเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงและไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ กับพนักงานระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น

           โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2652 โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ทุกคนได้แสดงสปิริตการช่วยองค์กรผ่านวิกฤติด้วยการลดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมนำร่องไปแล้ว ทางฝ่ายบริหารระดับสูงจึงได้มีการลงมติที่จะช่วยองค์กรด้วยการลดค่าตอบแทนตามความสมัครใจ

        “ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้การบินไทยกลับมาสู่สถานะที่แข่งขันได้ในธุรกิจการบินในปัจจุบัน การแสดงสปิริตของคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารระดับสูง เป็นการจุดประกายให้ทุกคนในองค์กรตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่เราต้องรวมพลังกัน ต้องช่วยกันทุกวิถีทาง ในการรักษาองค์กรให้พ้นวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้ อะไรที่เสียสละได้ ต้องเสียสละ”

           อย่างไรก็ตาม ขอให้พนักงานในระดับปฎิบัติการทุกคนไม่ต้องกังวลว่าการลดค่าตอบแทนครั้งนี้ จะถูกบังคับใช้ในระดับตนด้วย เพราะฝ่ายบริหารจะพยายามจัดการทุกอย่างไม่ให้กระทบถึงความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันในการบริหารลดต้นทุนที่จะไม่ให้กระทบถึงคุณภาพการบริการ  นายสุเมธกล่าว

            ทั้งนี้สาเหตุของเรื่องดังกล่าวมาจาก ฝ่ายบริหารการบินไทย ได้ส่งอีเมล ถึงพนักงานระดับฝ่ายบริหาร โดยขอความร่วมมือพนักงานระดับ 10 ขึ้นไปในการร่วมมือโดยสมัครใจ กันฝ่าวิกฤติองค์กร ร่วมลดค่าใช้จ่ายบริษัท ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ถึงเดือนธันวาคม2562 เป็นเวลา 4 เดือนโดยระบุในเอกสารว่า จะให้ร่วมลดเงินเดือนรายได้สูงสุดไม่เกิน 10 %  และลดค่าพาหนะเหมาจ่ายสูงสุดไม่เกิน 10 %มีผลตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อบรรเทาภาระวิกฤติของบริษัท

“สุเมธ”แจงลดเงินเดือนผู้บริหาร ไม่มีผลต่อพนักงาน เดินหน้าซื้อฝูงบินใหม่38 ลำ

           ในส่วนของแผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย จำนวน 38 ลำ มูลค่า 1.56 แสนล้านบาท การบินไทยจะเดินหน้าต่อ แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนรัฐบาล และมีข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นการเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการซื้อ-ไม่ซื้อ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราก็ต้องไปทำข้อมูลเปรียบเทียบให้ชัดเจน เพื่อนำเข้าพิจารณาในบอร์ดอีกรอบ ก่อนเสนอเรื่องกลับไปยังกระทรวงคมนาคม  ซึ่งต้องยอมรับว่าเครื่องบินของการบินไทยมีอายุค่อนข้างมาก หากมีการซ่อมบำรุงใหญ่จะต้องใช้เงินสูง หรือ คิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 4 ของราคาเครื่องใหม่ และการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ ก็จะใช้เงินของการบินไทย และแม้ครม.จะอนุมัติก็ไม่ได้เอางบประมาณของประเทศ หรือภาษีประชาชนมาใช้ในการจัดซื้อแน่นอน แต่จะเป็นการใช้เงินของการบินไทยหรือเงินกู้

“สุเมธ”แจงลดเงินเดือนผู้บริหาร ไม่มีผลต่อพนักงาน เดินหน้าซื้อฝูงบินใหม่38 ลำ

     ปัจจุบันการบินไทยมีปัญหาขาดเครื่องบิน ทำให้ใช้งานเครื่องบินไม่ได้เต็มจำนวน โดยมีเครื่องที่ต้องจอดนิ่งรอซ่อมและขายอีก 12 ลำ จากทั้งหมด 82 ลำ จึงเหลือฝูงบินที่ให้บริการได้ประมาณ 69 ลำ  และการบินไทยมีแผนที่จะเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 3 ลำในช่วงปลายปีนี้ เพื่อรองรับการให้บริการในเส้นทางบินยุโรป คาดว่าจะเป็นเครื่องขนาดใหญ่ และไม่ใช่เครื่องใหม่ โดยราคาเช่าจะถูกกว่าแผนเช่าเครื่องบินเมื่อช่วงต้นปีประมาณ 10-20% จากอนิสงค์เงินบาทแข็งค่า
          ทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานใน 6 กลยุทธ ในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1. กลยุทธ์ “SaveTG Co-Creation” เป็นกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้พนักงานทุกภาคส่วนระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะมายังผู้บริหาร และที่สำคัญ เปิดให้ผู้โดยสารเสนอแนะความคิดเห็นมายังบริษัทฯ โดยสามารถร่วม Co-Create ได้ที่ [email protected]

 

       2. กลยุทธ์ Zero Waste Management โดยจะเริ่มที่ Food Waste ก่อน เป็นโครงการที่จะช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติโดยรวม ขณะนี้ ได้เริ่มมีการศึกษาร่วมกันกับทาง FoodInnoPolis เพื่อกำหนดแผนงานปฏิบัติ

        3. กลยุทธ์การรุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือ บินตรงสู่เซนได อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สวยงามทุกฤดูกาลในภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่น

          4. กลยุทธ์การเพิ่มรายได้ โดยใช้ Digital Marketing อาทิ การออกโปรโมชั่นผ่านสื่อดิจิทัลทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงฐานลูกค้ากลุ่ม Online มากขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มความสะดวกสำหรับลูกค้าที่ดาวน์โหลด Application Thai Airways ไว้ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะสามารถจองบัตรโดยสาร ค้นหาเที่ยวบิน โปรโมชั่นบัตรโดยสาร และนำเสนอสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ ให้กับผู้โดยสารของการบินไทยมากขึ้น สำหรับเรื่องระบบ ได้ปรับปรุงให้ Mobile Application สามารถเพิ่มรายได้ โดยการเสนอการขายผลิตภัณฑ์เสริม (Ancillary Product)    
         อาทิ น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ ประกันภัยการเดินทาง รถรับส่งสนามบิน รถเช่า โรงแรม เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มภาษาต่างๆ และปรับเปลี่ยนหน้า Mobile Application ให้เข้าถึงผู้โดยสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการเพิ่มรายได้เสริม อาทิ โครงการการจำหน่ายสินค้าออนไลน์  eCommerce ซึ่งบริษัทฯ ได้คัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (eCommerce Vendor) ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้กับสายการบินชั้นนำของโลกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2562

        5. กลยุทธ์ THAI Synergy การบินไทยมีสินค้าและบริการที่สามารถผสานพลังกับพันธมิตร โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คือ การผสานพลังกับ Café Amazon ในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย

            6. กลยุทธ์ TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติเพื่อให้เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ สะดวกสบายสำหรับผู้โดยสาร รุกตลาดในภูมิภาคอย่างเต็มที่ภายในไตรมาส  4 ของปีนี้ และที่สำคัญคือ ดำเนินการให้สายการบินไทยสมายล์เข้าร่วมเป็น Connecting Partner  ของกลุ่มพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในสิ้นปี 2562 เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเส้นทางบินในระดับภูมิภาค
          ปีนี้ยอมรับว่าเราขาดทุนสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศมากระทบ ทั้ง เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ราคาค่าโดยสารแข่งขันได้ลำบาก เพราะลูกค้ากว่า95%ของการบินไทยเป็นต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากลูกค้าของสายการบินต้นทุนต่ำ ที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ทั้งยังมีผลกระทบจากความขัดแย้งน่านฟ้าระหว่างอินเดียและปากีสถาน การชลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนลดลง และผลกระทบจากการหันมาเปิดเส้นทางบินของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสแอร์ไลน์) ในบางจุดที่แข่งกับการบินไทย ทำให้ในบางเส้นทางได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเส้นทางญี่ปุ่น ที่สร้างรายได้ให้การบินไทย คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้บริษัท

        อนึ่ง  ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 261,986 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 6,735 ล้านบาท หรือลดลง 2.5% มีหนี้สินรวมเท่ากับ 245,133 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 3,132 ล้านบาท หรือลดลง 1.3% และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 16,853 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 3,603 ล้านบาท หรือลดลง 17.06% สาเหตุหลักเกิดจากผลดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีผลขาดทุนขาดทุนสุทธิ 6,438 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 381 ล้านบาท หรือ คิดเป็นการขาดทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้น 16 เท่า

“สุเมธ”แจงลดเงินเดือนผู้บริหาร ไม่มีผลต่อพนักงาน เดินหน้าซื้อฝูงบินใหม่38 ลำ

             ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเข้าพบรัฐบาลเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขให้กับการบินไทย เพราะไม่มีเหตุผลที่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มสถานะทางการเงินที่มีปัญหาของการบินไทย และนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกปี สายการบินอื่นสามารถทำกำไรกันได้ แต่การบินไทยมีแต่ทรุดกับทรุด ซึ่งมันไม่ปกติ