ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!  จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

16 ส.ค. 2562 | 23:26 น.

 

กำลังจะสิ้นสุดประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ยกเลิกเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิต 2560/2561 ไปถึงปีการผลิต  2561-2562  ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ทำให้กลุ่มองค์กรตัวแทนชาวไร่อ้อยออกมาขยับขา ประกาศท่าทีให้ภาครัฐลงมาดูแลเรื่องเร่งด่วนก่อน

กลุ่มชาวไร่อ้อยในนาม  4 องค์กร  ไล่ตั้งแต่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกในเครือข่าย 37 สมาคม เป็นสถาบันชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ  พากันตบเท้าขอพบเจ้ากระทรวงเป็นรายกระทรวง  ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เรียกร้องประเด็นหลัก แก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ  รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้  ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบถึงชาวไร่อ้อยโดยตรงและโดยเฉพาะประเด็นอ้อยไฟไหม้เป็นมติครม.ไปก่อนหน้านี้แล้วมีเงื่อนเวลากำหนดขีดเส้นตายให้ปริมาณอ้อยเผาเหลือเพียง 0-5% ภายใน 3 ปี

ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!   จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

-ยื่นหนังสือตอกย้ำแก้ไขด่วน

 หนังสือที่ยื่นถึง 3 กระทรวงเป็นการร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่จะเริ่มพ.ย.62-ก.ย.63นี้   โดยชาวไร่อ้อยประเมินภาวะการผลิตอ้อยของพี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ ไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวยิ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะฤดูการผลิตปีนี้ที่คาดว่าราคาอ้อยจะตกต่ำต่อเนื่อง จากที่ราคาอ้อยได้ตกต่ำมากว่า 3 ฤดูการผลิตแล้ว หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐเพิ่มเติม พี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศจะประสบปัญหาขาดทุนและเกิดความเดือดร้อนต่อการครองชีพได้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จึงเป็นข้อเรียกร้องให้ 3 กระทรวงพิจารณาใน 3 ประเด็นดังนี้

 1. ราคาอ้อยฤดูการผลิตนี้(2562/2563) ขอได้รับการสนับสนุนราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ1,000 บาท ที่ค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.  จากที่ผ่านมาราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่700-800บาทต่อตัน ซึ่งราคาอ้อยจะไปสัมพันธ์กับราคาน้ำตาล เนื่องจากเวลาคำนวณรายได้เข้าระบบอ้อยและน้ำตาล จะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ 1.ส่วนน้ำตาลส่งออกที่จะเป็นไปตามกลไกตลาดโลก  และ2.มาจากส่วนของการบริหารจัดการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ  ส่วนนี้กำลังจะสิ้นสุดประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ จากที่ก่อนหน้านั้นในประเทศมีการกำหนดขายน้ำตาลเป็นโควตา(โควตา ก. คือน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ,โควตา ข. คือน้ำตาลสำหรับส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย,โควตา ค. คือน้ำตาลที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ส่งออก)

2.มาตรการการบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง ขอได้รับการสนับสนุนให้ใช้ความสูงรถบรรทุกอ้อยจากพื้นถนนไม่เกิน 4 เมตร จากเดิมมีความสูงเพียง 3.6 เมตร 

3.ขอสนับสนุนผ่อนผันมาตรการตามมติครม. ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีระยะเวลาเตรียมการในช่วงวิกฤติปัญหาราคาอ้อยตกต่ำซึ่งไม่มีทุนเพียงพอ  โดยขอให้รัฐทบทวนมติครม.เมื่อ 11 มิถุนายน 2562 ให้ขยายเวลาการกำหนดอ้อยไฟไหม้ใหม่จาก 3 ปี (ตามมติครม.ก่อนหน้า)ให้เป็นภายใน 6 ปี

ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!   จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

 -ขอ 6 ปีลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงมาตรการเกี่ยวกับอ้อยไฟไหม้ว่า ก่อนหน้านั้น มติครม. มีการออกระเบียบ กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน  สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน  และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเหลือเพียง 0-5 % ต่อวัน  ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี  ซึ่งชาวไร่อ้อยมองว่าเร็วเกินไปและชาวไร่อ้อยปรับตัวไม่ทัน  จึงขอให้ทบทวนมติครม.ที่ผ่านมาโดยขยายเวลาเป็น 6 ปี

ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!   จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

นราธิป อนันตสุข

นอกจาก 3 ข้อเสนอจากชาวไร่อ้อยแล้ว น่าจับตาหลังสิ้นสุดประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ยกเลิกเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศว่าท้ายที่สุดแล้วต้องกลับไปใช้ระบบโควตาเหมือนเดิมหรือไม่  หลังจากที่เว้นวรรคไป 2 ปี(ปี 2560/2561 และปีการผลิต 2561-2562) และหากกลับไปใช้เหมือนเดิมจะบริหารจัดการอย่างไรโดยไม่ให้ขัดต่อข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และถ้าไม่มีระบบโควตา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบอ้อยและน้ำตาลต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและผู้บริโภคน้ำตาลปลายทางอย่างไร ถึงจะเหมาะสมกับทุกฝ่ายโดยการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงต้นทุนของโรงงานน้ำตาล และต้นทุนชาวไร่อ้อยด้วย

ไม่เพียงเท่านี้.....อย่าลืมมองในมุมผู้บริโภคน้ำตาลตัวจริงที่มาจากภาคอุตสาหกรรมที่เวลานี้พากันยิ้มแก้มปริ เพราะต้นทุนในการใช้น้ำตาลลดลง แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้มีการปรับลดราคาสินค้าให้ผู้บริโภคแล้วหรือยัง!!!โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง เพราะมีปริมาณน้ำตาลโลกมาก บวกกับแนวโน้มกระแสคนออกมาตอกย้ำว่าความหวานนั้นนำพามาถึงโรคภัย ยิ่งกดให้ราคาน้ำตาลร่วง

ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!   จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

อย่างไรก็ตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 14 สิงหาคม มีราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าเดือนตุลาคม2562 อยู่ที่ 11.7 เซ็นต่อปอนด์  ราคาน้ำตาลทรายขาวยืนอยู่ที่ 317 .20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังยืนอยู่ในแดนขาลง

ส่วนราคาน้ำตาลที่ขายในประเทศ ปัจจุบันราคาขายส่งน้ำตาลหน้าโรงงาน ราคาลดลงเหลือ 14-16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากก่อนหน้านี้ราคาหน้าโรงงานยืนอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม    ขณะที่ขายปลีกน้ำตาลทรายเวลานี้ผู้บริโภคภาครัวเรือนบริโภคน้ำตาลราคา 20-22 บาทต่อกิโลกรัม ถูกกว่าก่อนหน้านี้ที่ราคายืนอยู่ที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม  เมื่อราคาน้ำตาลตกต่ำลง ก็กระทบต่อระบบอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะราคาอ้อย

การขยับตัวของชาวไร่อ้อยเพิ่งเริ่มต้นในรัฐบาลประยุทธ์2/1 ถ้าราคาน้ำตาลยังร่วงต่อเนื่องไปอีกจนทำให้ราคาอ้อยตกต่ำไปกว่านี้ เชื่อว่ายังต้องคุยกันอีกหลายตลบ โดยเฉพาะราคาน้ำตาลที่สะท้อนมาถึงราคาอ้อยทุกตัน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชั่งน้ำหนักให้สมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้บริโภคจากภาครัวเรือน  จากภาคอุตสาหกรรม  โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ทั้งหมดต้องร่วมกันหาวิธีและทางออกให้ทุกภาคส่วนยืนได้

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

.............