คลายกฎ LTV ไม่ฟื้นตลาด เหตุกู้ร่วม 20%

22 ส.ค. 2562 | 03:00 น.

 

ธปท.ผ่อนเกณฑ์ LTV ยกเว้นกู้ร่วมที่่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้าน ไม่ถูกนับเป็นผู้กู้ เหตุตัดสิทธิ์มีบ้านเป็นของตัวเอง อธิปยิ้มรับช่วยลดยอดปฏิเสธสินเชื่อ ฟาก ยูโอบีมองไม่ช่วยให้ตลาดดีดกลับมาโต เหตุสัดส่วนผู้กู้ร่วมทั้งระบบมีแค่ 20%

หลังจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอผ่อนผันเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านมาตรการอัตราเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และลูกค้าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในภาวะที่ตลาดชะลอตัว ภายใต้ 3 ข้อเสนอคือ 1.เลื่อนการบังคับใช้มาตรการ LTV 2.เปลี่ยนสัญญาซื้อขายจากราคาจริงเป็นราคาประเมิน และ 3.ผ่อนเกณฑ์ผู้กู้ร่วม ในที่สุดช่วงคํ่าวันที่ 15 สิงหาคม ธปท.ได้ประกาศผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ในส่วนผู้กู้ร่วม ให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2562

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การผ่อนเกณฑ์ผู้กู้ร่วม กรณีไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจะไม่นับเป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยให้ได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น เพราะผู้กู้ร่วมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่อยู่อาศัย แค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัวเท่านั้น

คลายกฎ LTV  ไม่ฟื้นตลาด  เหตุกู้ร่วม 20%

รณดล นุ่มนนท์

 

อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมหลัง LTV บังคับใช้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง โดยจะเห็นว่าราคาที่อยู่อาศัยปรับลดลงหรือทรงตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้  โดยเฉพาะผู้กู้หลังแรกที่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ดีขึ้นและยังลดการเก็งกำไรทำให้อุปสงค์อุปทาน เทียมลดลง สะท้อนจากวงเงิน  LTV ลดลงและเป็นไปตามราคาประเมินมากขึ้น

ทั้งนี้หลัง LTV บังคับใช้วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า อัตราการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 ขยายตัว 14%  โดยแนวราบเติบโต 17.9% และแนวสูง 5.7% ขณะที่สัญญาที่ 2 ขึ้นไปหดตัวติดลบ 13% โดยแนวราบขยายตัว 3.3% และแนวสูงติดลบ 24.8% ขณะที่จำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ เติบโต 14.2% หากเป็นตัวเลขไตรมาส 1 จะเห็นการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยก่อนเริ่ม LTV ทำให้ตัวเลขไตรมาส 2 เติบโตชะลอลงเหลือ 2.4%

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออก แบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจว่า  ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะผู้กู้ร่วมจะไม่โดนตัดสิทธิ์การกู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นผลดีต่ออัตราการปฏิเสธสินเชื่อ(Reject Rate)ที่จะปรับลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 40% แต่คงไม่เห็นการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เราเพิ่งเสนอธปท.ไป และคิดว่าธปท.คงต้องไปศึกษาในรายละเอียดก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายคํ้าประกันที่จะมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และต้องมีการแก้กฎหมายหากมีการผ่อนคลายอาจต้องใช้เวลา แต่เป็นเรื่องดีที่ธปท.รับพิจารณาเลย

นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคาร ยูโอบี เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในส่วนของผู้กู้ร่วมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้กู้ร่วมให้ไม่โดนตัดสิทธิ์การกู้ยืมที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แต่อาจจะไม่ช่วยให้ตลาดดีดกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากหากดูสัดส่วนผู้กู้ร่วมซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดภาพรวมจะเห็นว่ามีเพียงประมาณ 20% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มระดับบนมีสัดส่วนการกู้ร่วมไม่ถึง 5% เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ซื้อเงินสดหรือกู้เพียงคนเดียว

คลายกฎ LTV  ไม่ฟื้นตลาด  เหตุกู้ร่วม 20%

สำหรับในส่วนของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เมื่อธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ผู้กู้ร่วม ธนาคารอาจจะต้องขอเอกสารจากลูกค้าเยอะขึ้น เพราะต้องขอตรวจสอบเอกสารในเรื่องของความเป็นกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยในนั้น เช่น สัญญาซื้อขายจากกรมที่ดินที่จะมีระบุว่าที่อยู่อาศัยหลังนั้นมีชื่อใครเป็นกรรมสิทธิ์ไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ทำได้หากมีการผ่อนคลายเกณฑ์ ซึ่งดีต่อผู้กู้ร่วม

 

สำหรับผลการดำเนินของธนาคาร ยูโอบี ช่วงครึ่งปีแรก ยังคงขยายตัวได้ โดยเฉพาะในไตรมาส 1 ก่อนมาตรการบังคับใช้ 1 เมษายน เติบโตได้ค่อนข้างดี เพราะลูกค้าเร่งโอน แต่พอเข้าไตรมาส 2 ยอดสินเชื่อเริ่มปรับลดลง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามตัวเลขไตรมาส 3 ก่อนเนื่องจาก จะเห็นผลกระทบจากมาตรการชัดเจนขึ้น รวมถึงผลจากธนาคารในตลาดปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาแข่งขันกัน ซึ่งจะเห็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกตํ่ากว่า 3% ลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 2.9% จากอดีตเคยอยู่ที่กว่า 3% ปรับลดลงมาเฉลี่ย 0.10-0.20%

ภาพรวมคงไม่ได้ทำให้ตลาดดีดกลับมาโต แต่ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ก็เป็นเรื่องดี แม้เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่ทำได้ เพราะเราสามารถดูกรรมสิทธิ์ในเอกสารกรมที่ดิน เพราะจะระบุถึงกรรมสิทธิ์ผู้กู้และผู้กู้ร่วม เช่น พี่น้อง หากพี่กู้ แต่กลัวไม่ผ่าน เลยเอาน้องมากู้ร่วมด้วย แต่พี่เป็นคนผ่อนชำระ ในเอกสารกรรมสิทธิ์ระบุชื่อพี่เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ แบงก์เองอาจจะต้องขอเอกสารลูกค้าเยอะหน่อย แต่ถือว่าดีกับผู้กู้ร่วม ส่วนมาตรการ LTV ทำให้ยอดรีเจ็กต์คงไม่แตกต่างจากเดิม เพราะลูกค้าจะรู้ตัวดีว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หากกู้สัญญาที่ 2 และ 3 วงเงินจะลดลง

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 18-21 สิงหาคม 2562

คลายกฎ LTV  ไม่ฟื้นตลาด  เหตุกู้ร่วม 20%