จี้ 'สนธิรัตน์' เข็น บี10 ฉุดชาวสวนปาล์มขึ้นจากเหว

16 ส.ค. 2562 | 11:16 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3497 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 ส.ค.2562 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

จี้ 'สนธิรัตน์' เข็น บี10

ฉุดชาวสวนปาล์มขึ้นจากเหว

 

                  การประกันรายได้ที่ราคา 4 บาทต่อกก.ให้กับชาวสวนปาล์ม 9 แสนครัวเรือน เป็นเพียงยาแก้ปวดหัวชั่วคราวเท่านั้นและหากดำเนินการในขณะนี้อาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรในแง่เกษตรกร อันเนื่องมาจากปาล์มขาดคอ หรือไม่มีผลผลิตปาล์มออกมาขายนั่นเอง

                  ก่อนหน้านี้ได้ใช้พื้นที่นี้ส่งเสียงเตือนไปยัง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ว่าการแก้ปัญหาด้วยประกันรายได้ อาจทำได้แค่ชั่วคราวและยังมีผลบิดเบือนกลไกการตลาด ที่ไปสร้างการเสพติดกับนโยบายลักษณะนี้ได้ในระยะยาว และส่งผลให้เกิดการไร้เสถียรภาพของตลาดและไร้เสถียรภาพของราคา ส่งผลกระทบบั่นทอนกับอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบ

                  นอกจากนี้ยังสุ่มเสี่ยงเกิดการรั่วไหลของงบประมาณและบานปลายไปถึง 3 แสนล้านบาท สำหรับการประกันรายได้ของ 5 พืชหลักเมื่อคิดรวมทั้งหมด

                  การแทรกแซงสามารถทำได้แต่ต้องเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลบิดเบือนและตลาดไม่ทำงานเลย นำไปสู่การล่มสลายของพืชชนิดนั้นและเลยเถิดไปทั้งอุตสาหกรรมในที่สุด

                  อันที่จริงทางออกของเรื่องปาล์มที่ต้องทำควบคู่ผสมผสานใช่ว่าจะไม่มี แต่อยู่ที่จะขยับรับกันให้ทันหรือไม่

                  ย้อนกลับไปสถานภาพของปาล์ม ณ ปัจจุบัน เพื่อร่วมกันหาทางออก ในปีหนึ่งๆเกษตรกรชาวสวนปาล์มผลิตปาล์มทลายหรือผลปาล์มออกมาประมาณ 16 ล้านตัน สกัดออกมาเป็นนํ้ามันปาล์มดิบประมาณ 3 ล้านตันเศษ ใช้บริโภคเป็นนํ้ามันพืช 1.44 ล้านตัน ใช้ผลิตเป็นพลังงาน 1.8 ล้านตัน มีแคร์รีโอเวอร์สต๊อกหรือ สต๊อกข้ามปีอยู่ประมาณ 3-4 แสนตัน

                  สต๊อกข้ามปีส่วนนี้เป็นปัญหาจุกอก ที่คอยกดราคาปาล์มของเกษตรกรไม่ให้ขยับขึ้นมา รวมทั้งปัญหาใหญ่สุดคือการลักลอบนำเข้าจากแหล่งใหญ่จากมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทย เข้ามาเติมอยู่ตลอดเวลา โดยพ่อค้าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ฉ้อฉล

                  อันที่จริงถ้าพิจารณาจากสต๊อกและผลผลิตปาล์มของไทย ไม่ได้เป็นปัญหาให้เดือดเนื้อร้อนใจเลยถ้ากระทรวงพลังงาน โดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล้าขยับสั่งการให้ใช้นํ้ามันไบโอดีเซลบี 10

                  ทุกวันนี้เราใช้นํ้ามันดีเซลในประเทศอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านลิตรต่อปี ในนํ้ามันไบโอดีเซลบี 7 หากขยับเป็นบี 10 คือการเพิ่มอีก 3% หรือคิดเป็นปริมาณนํ้ามันปาล์มเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านลิตรต่อปีหรือ 6.52 แสนตันต่อปี ดูดซับปาล์มทะลายของเกษตรกรออกมา 3.26 ล้านตัน

                  “สนธิรัตน์ต้องเลิกเกรงใจบริษัทนํ้ามันยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท.ในการขยับมาตรฐานนํ้ามันไบโอดีเซล ต้องหันมาดูผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักได้แล้ว การทำเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องออกแรงออกหน้ามากในการเจรจากับบริษัทรถยนต์แต่ประการใด เพราะรถยนต์ที่ผลิตออกมารุ่นหลังๆ นี่ใช้บี 10 ได้อย่างไม่มีปัญหา ใช้บี 20 ก็ยังไม่มีผลกระทบเครื่องยนต์ด้วยซํ้าที่สำคัญชาวบ้านเขาไปไกลถึงบี 100 กันแล้ว”

                  สนธิรัตน์ต้องลงมือสั่งการทันที แค่เสกพรวดเดียวสต๊อกปาล์มก็หายวับแล้ว ไม่ควรรอแต่แผนพลังงาน โรดแมป ที่บรรดากระทรวงพลังงาน เอาแต่ท่องจำ ท่องบ่น แต่ไม่ปฏิบัติ

                  ส่วนการเผาเป็นพลังงานไฟฟ้า ก็เป็นทางเลือกอีกประการที่ต้องดำเนินการ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนแล้วสูงกว่ากันไม่มากจนเกินไป อย่างน้อยเหมือนกับยิงนก 2 ต่อ ได้พลังงานสะอาดและช่วยเหลือเกษตรกร แทนที่จะใช้ก๊าซที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานมากกว่า หรือถ่านหินที่แม้ราคาถูกกว่าก็จริง แต่ในแง่สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพอาจสูญเสียมากกว่าก็ได้

                  อยู่ที่ สนธิรัตน์ จะเลือกฉุดชาวสวนปาล์มขึ้นจากหุบเหวหรือไม่...