‘ยามาโตะ’ทุ่ม1.8พันล. พัฒนานิคมแห่งใหม่ รับทุน2.2หมื่นล.ไหลเข้าอีอีซี

21 ส.ค. 2562 | 04:40 น.

 

นิคมฯยามาโตะ ทุ่ม 1.8 พันล้านบาท พัฒนานิคมแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 690 ไร่ .ชลบุรี พร้อมเปิดขายที่ดินได้ไตรมาส 2 ปีหน้า ประเดิมด้วยลูกค้าจากไต้หวัน สนใจเข้ามาลงทุนกว่า 6 ราย ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ คาด 3 ปี ดึงทุนได้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ บนเนื้อที่ 690 ไร่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ถือเป็น 1 ใน 21 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ที่ได้รับการประกาศจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ไปแล้วเมื่อปี 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการลงทุน ด้วยงบลงทุนราว 1.8 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่จะเข้ามาลงทุนอยู่ในโครงการ ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

 

‘ยามาโตะ’ทุ่ม1.8พันล.  พัฒนานิคมแห่งใหม่ รับทุน2.2หมื่นล.ไหลเข้าอีอีซี


 

 

นายมงคล สุขเกษมไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อเมริกัน บิวเตอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า นิคมแห่งนี้จะใช้พื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ราว 483 ไร่ และพื้นที่พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยราว 18.68 ไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะใช้เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1.7-1.8 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดรับนักลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563

ทั้งนี้นิคมดังกล่าวจะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่ม โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนกลุ่มอิเล็ก ทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่กันพื้นที่ไว้ราว 40 % รองลงมาเป็นกลุ่มยานยนต์อัจฉริยะและชิ้นส่วนพื้นที่ 30% และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่เข้ามาลงทุนในนิคมพื้นที่ราว 30% ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการขายพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 3 ปี นับจากปี 2563 เป็นต้นไป โดยราคาตั้งต้นอยู่ที่ไร่ละ 4.35 แสนบาท

 

“ขณะนี้พื้นที่นิคมได้รับการอนุมัติรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว หลังจากนี้ไปจะส่งแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาเห็นชอบ และหลังจากนั้นจะเข้าพื้นที่เดินหน้าก่อสร้างต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนานิคม ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักลงทุนจากไต้หวันแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนแล้วประมาณ 6 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่กว่า 100 ไร่แล้ว โดยอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นส่วนใหญ่

นายมงคล กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนจากไต้หวันแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนนิคมนั้น เนื่องจากต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ประกอบกับไทยมีพื้นที่อีอีซีในการดึงดูดนักลงทุนจากการให้สิทธิประโยชน์ อีกทั้งบริษัทมีบริษัทในเครือที่สามารถก่อสร้างโรงงานได้อย่างครบวงจร

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3497 วันที่ 18-21 สิงหาคม 2562

‘ยามาโตะ’ทุ่ม1.8พันล.  พัฒนานิคมแห่งใหม่ รับทุน2.2หมื่นล.ไหลเข้าอีอีซี