เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน

15 ส.ค. 2562 | 01:30 น.

รัฐบาลเร่งเครื่องออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อประชาชน แจกเงิน 1,500 บาท 10 ล้านคนเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ดึงแบงก์รัฐอัดฉีดเงิน 2 แสนล้าน ชดเชยต้นทุนการผลิต ประกันรายได้ช่วยเกษตรกร 6.2 ล้านครัวเรือน ปล่อยกู้ดอกตํ่า

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจนัดแรกในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล ด้วยการอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน การดึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดูแลภาคเกษตร ผู้ประกอบการรายย่อยเอสเอ็มอี ผู้มีรายได้ระดับกลาง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมครม.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 20 สิงหาคม 2562

เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดชัดเจนว่า จะดูแลประชาชน 4 กลุ่มหลัก ดังนั้นถ้าเป็นเกษตรกรก็จะผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หากเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รายเล็ก จะผ่านธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ หากเป็นรายกลางก็จะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารกรุงไทย และประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางจะผ่านธนาคารออมสิน รวมวงเงินทั้งหมดราว 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ปัญหาภัยแล้ง 1 แสนล้านบาท และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยตํ่าของแบงก์รัฐอีก 1 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ระบุ

 

แจก1,500บาทเที่ยวเมืองรอง

สำหรับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนประเมินว่าจะมีการอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท ในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในการแจกเงิน 1,500 บาท เพื่อส่งเสริมนักท่องเที่ยวคนไทยไปเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งตามหลักการจะแจกคนละ 1,500 บาท จำนวน 10 ล้านคน คิดเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท ให้คนไทยเที่ยวข้ามจังหวัด โดยโอนเงินผ่านแอพพลิ เคชันของธนาคารกรุงไทย

“โครงการนี้จะดำเนินการในแบบเฟิสต์คัมเฟิสต์เสิร์ฟ ใครมาก่อนได้ก่อน แต่ที่ยังไม่สามารถสรุปได้คือ การตรวจสอบว่าคนที่ได้เงินไปแล้วนำไปใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวจริง ๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร” แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผย

ลุยชดเชยรายได้เกษตรกร

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะโฆษกธ.ก.ส.เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการและวงเงินพร้อมเพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันรายได้ที่เคยทำมา 2 รอบการผลิตในปี 2553/2554 และปี 2554/2555 หรือชดเชยต้นทุนการผลิตในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี 2559/2560

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิต รัฐบาลจึงมอบหมายให้นำมาตรการชดเชยต้นทุนการผลิตเกษตรกรรายย่อย มาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งหมุนเงินถึงมือเกษตรกรเร็วขึ้น ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายตามนโยบายรัฐบาล บรรเทาความเดือดร้อนจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งในช่วงนั้นจะมีมาตรการดูแลคือ มาตรการประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชหลักตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศไปแล้ว

เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน

ทั้งนี้มาตรการชดเชยต้นทุนการผลิตจะใช้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีเกษตรกรจำนวนมากประมาณ 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งปกติต้นทุนการผลิตข้าวจะอยู่ที่ 4-5 พันบาทต่อไร่ หากชดเชย 20% ของต้นทุนการผลิตจะเป็นเงิน 500-800 บาทต่อไร่ แต่รัฐบาลเคยทำมาแล้วโดยจ่ายที่ 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งครัวเรือนหนึ่งจะได้ชดเชย 15,000 บาทเป็นเงินประมาณ 57,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายต้องดูว่า รัฐบาลจะเลือกชดเชยที่ราคาเท่าไหร่

 

กู้ฉุกเฉิน 5 แสนบาท

นอกจากนั้นยังมีวงเงินกู้ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและสินเชื่อปรับปรุงผลผลิต ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารอนุมัติไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท กู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก ส่วนปีที่ 2-5 คิดในอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะนำมารวมเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ด้วย

เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน

ธ.ก.ส.เตรียม 5.3หมื่นล.

ส่วนมาตรการหลังเก็บเกี่ยวธ.ก.ส.จะดูแลเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชหลักคือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์มนํ้ามัน ครอบคลุมเกษตรกร ไม่น้อยกว่า 6,230,000ครัวเรือน  โดยได้เตรียมวงเงินไว้ไม่น้อยกว่า 53,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าบางรายการอาจจะใช้เงินไม่มาก อย่างข้าว ที่คาดว่าผลผลิตจะออกมาน้อยจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ราคาในท้องตลาดน่าจะสูงกว่าราคาประกัน หรือแม้แต่ปาล์มนํ้ามันเอง ก็คาดว่าราคาน่าจะใกล้เคียงกิโลกรัมละ 4 บาทตามที่รัฐบาลประกาศราคาประกันไว้ รวม 2 มาตรการคิดเป็นวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ปาล์ม-ยาง 4.6 หมื่นล.

นอกจากนี้ในส่วนของนโยบายประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก เบื้องต้นจะใช้งบประมาณกว่า 46,784 ล้านบาท สำหรับปาล์มนํ้ามันและยางพารา โดยในส่วนของปาล์มนํ้ามัน จะใช้งบ 10,000 ล้านบาท เพื่อประกันรายได้ที่ 4 บาทต่อกก.(นํ้ามัน 18%)  ส่วนยางพาราประกันรายได้ 60 บาทต่อกก.เบื้องต้นได้เคาะพื้นที่สวนยางของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)จำนวน 1.12 ล้านราย (ครัวเรือน)จำกัดพื้นที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่เกินรายละ 25 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 13.3 ล้านไร่ คาดใช้งบประมาณรวม 35,743 ล้านบาท บวกค่าดำเนินการอีก 1,041 ล้านบาท

เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน

ส่วนประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้า 1 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ถือเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไข เพราะเวลานี้ผลผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคกลางกำลังเก็บเกี่ยว ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิภาคอีสานจะเริ่มออกปลายปี หากรัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการประกันรายได้ในเร็ววันและทันท่วงที ชาวนาก็จะได้รับประโยชน์ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ต่างรอความหวังเช่นกัน 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เปิดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ2แสนล้าน