73 ปีอาเซียน 1967-2040

14 ส.ค. 2562 | 04:20 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3496 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2562 หน้า 7

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งนั่นคือวันอาเซียนอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถูกก่อตั้งและพัฒนาความร่วมมือมาแล้วยาวนานถึง 52 ปี (1967-2019) โดยปัจจุบันอาเซียนถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืนมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งในโลก แม้เราจะไม่ได้มีระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง หรือยังไม่มีสถาปัตยกรรมการรวมกลุ่มที่อนุญาตให้มีองค์กรเหนือรัฐ หรือการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

แต่อย่างน้อยเราก็ยังไม่มีประเทศสมาชิกใดประเทศสมาชิกหนึ่งขอยกเลิกการเป็นสมาชิก หรือขับไล่บางประเทศสมาชิกออกจากกลุ่ม เรายังไม่มีแนวคิดที่จะใช้กองกำลังหรือสร้างกำแพงกีดกั้นที่บริเวณชายแดนของประเทศสมาชิก และเราก็ยังคงมีการประชุมสุดยอดและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และมีคณะทำงานที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ควรจะเป็น

และตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ไทยทำมาโดยตลอด นั่นคือ การร่วมกำหนดทิศทางและแนวทางการเดินหน้าของประชาคมอาเซียน นี่คือภารกิจของไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การก่อกำเนิดของอาเซียนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 จากนั้น ไทยคือต้นคิดเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนมาตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษ 1980 และผลักดันจนสำเร็จลุล่วงจนกลายเป็น ASEAN Free Trade Area: AFTA ได้สำเร็จในปี 1992/1993

ด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยคือผู้สร้างสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงที่เปิดเวทีที่ทำให้รัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงของประเทศสมาชิก และอีกกว่า 17 ประเทศทั่วโลกสามารถปิดห้องคุยกันได้ด้วยความสบายใจในนาม  ASEAN Regional Forum: ARF ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงเดียวที่มีเกาหลีเหนืออยู่ร่วมกับเกาหลีใต้ และอินเดียนั่งคุยกันได้กับปากีสถาน โดยมีสหรัฐฯ รัสเซีย จีนและญี่ปุ่น นั่งอยู่ในห้องเดียวกัน และในท่ามกลางห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ เอเชียในปี 1997 ไทยก็เป็นผู้เสนอให้อาเซียนมองไปในอนาคตร่วมกันด้วย วิสัยทัศน์อาเซียน 2020

ใครที่บอกว่ากระบวนการตัดสินใจของอาเซียนล้าหลัง เพราะต้องรอคอยให้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกลงมติเป็นเอกฉันท์ถึงจะสามารถผลักดันเรื่องใดๆ ได้ นั่นเท่ากับอาเซียนวิ่งได้เร็วที่สุด ก็ได้เพียงเท่ากับประเทศที่เดินช้าที่สุดเท่านั้น ประเทศไทยก็พิสูจน์ว่านี่ไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะในปี 2007 ในวันที่อาเซียนกำลัง จะมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่งจะเป็นธรรมนูญ หลักที่กำหนดความสัมพันธ์ของทั้ง 10 ประเทศ ในขณะที่อีก 9 ประเทศไม่เห็นความสำคัญของการบรรจุประเด็นสิทธิมนุษยชนในกฎบัตรอาเซียน

แต่ไทยคือประเทศเดียวที่กดดันและเรียกร้องให้อาเซียนต้องบรรจุประเด็นสิทธิมนุษยชน เข้าไว้ในกฎบัตรอาเซียน มิเช่นนั้นไทยจะไม่ยอมรับกฎบัตร นี่คือการกดดันจากเสียงส่วนน้อยที่ทำให้เสียงส่วนใหญ่จำเป็นต้องหยุดและทบทวนเพื่อเดินหน้า จนในที่สุดเราก็มีกฎบัตรอาเซียนที่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิมนุษยชน


 

 

ปี 2008-2009 เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียนรอบที่แล้ว ไทยคือผู้เสนอแนะให้ต้องเชื่อมโยงทั้ง 3 เสาหลักของอาเซียน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันโดยสร้างระบบความเชื่อมโยงที่ดีผ่าน Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC

และในปีนี้ 2019 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนอีกครั้ง ไทยก็มีวาระสำคัญๆ ที่ดำเนินการสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว อาทิ การสร้างศูนย์อาเซียนในมิติต่างๆ ที่จับต้องได้ให้เกิดขึ้น 7 ศูนย์ (ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC); คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA)

ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine: ACMM); ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare: ATCSW); ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI); ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Center) และ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD))

การวางตำแหน่งแห่งที่ของอาเซียนอย่างชัดเจนท่ามกลางยุทธศาสตร์หลักของโลก ผ่าน ASEAN Outlook on Indo-Pacific (AOIP) ภารกิจต่อไปที่ไทยต้องเร่งดำเนินการผลักดันเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างน้อยในระยะสั้นก็คือการหาข้อสรุปข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP ให้สำเร็จให้ได้ภายในปีนี้และมีผลบังคับใช้ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างผลงานอันเป็นรูปธรรมที่จะยืนยันว่า อาเซียนและประเทศคู่เจรจาหลักยังคงสนับสนุนการค้าเสรีและเป็นธรรม ในท่ามกลางสงครามการค้าที่ชุดความคิดแบบปกป้องคุ้มกันทางการค้าถูกนำมาใช้และจะทำให้ทุกฝ่ายสูญเสีย

73 ปีอาเซียน 1967-2040

แต่ทั้งหมดนั้นคือบทบาทของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันครับ แต่อย่างที่ตั้งชื่อบทความเอาไว้ว่า 73 ปีอาเซียน 1967-2040 นั่นหมาย ความว่าไทยกำลังเดินหน้าเพื่อกำหนดแนวทางการเดินต่อไปของอาเซียนจากวันนี้จนถึงปี 2040 ด้วย ดังนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ว่าจ้างให้ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับภูมิภาคที่ทำงานวิจัยให้กับอาเซียนและเอเชียตะวันออก ทำงานวิจัยเพื่อเสนอแนะวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่เรียกว่าASEAN Vision 2040” ซึ่งตัวผู้เขียนและศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิชาการอีกมากกว่า 50 คนจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน และประชาคมวิชาการนานาชาติก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบวิสัยทัศน์ของอาเซียนในช่วงเวลาอีก 20 ปีต่อจากนี้ด้วย

โดยในรายงาน 4 เล่มใหญ่ๆ มีการวิเคราะห์สถานการณ์โลก ปัจจุบันจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ เพื่อหาข้อเสนอแนะต่อประชาคมอาเซียน โดยเปรียบเทียบกับความสำเร็จและจุดอ่อนของอาเซียนในอดีตที่ผ่านมา ร่วมกับการวิเคราะห์ถึงบริบทโลกในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวหน้าในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และเสนอแนะแนวทางการเดินหน้าต่อของประชาคมอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้ดังนี้

ปี 2020-2040 ประชาคมอาเซียนต้องคล่องแคล่วว่องไว (Nimble) และดำเนินนโยบายเชิงรุก (Proactive) มากขึ้น โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หาก

1. อาเซียนต้องกำหนดทางการทูตร่วมกันภายใต้หลักการของความเป็นผู้นำแบบ Collective Leadership (เหมือนกับวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ที่ต่างคนต่างเล่นโน้ตของตนเอง ต่างคนต่างมีท่อนเด่นของตนเองให้บรรเลง และทั้งวงก็สร้างเสียงดนตรีร่วมกัน) อาเซียนยังคงไม่มีสถานะเป็นองค์กรเหนือรัฐที่เข้าไปมีสภาพบังคับประเทศสมาชิกให้ยอมทำตามมติเสียงส่วนใหญ่ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีจุดแข็งในมิติใดก็ควรมีบทบาทนำในการเดินหน้ามิตินั้นๆ ของทั้งประชาคม โดยมีจุดยืนร่วมกันและยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นร่วมกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (Ensuring ASEAN Centrality)

2. อาเซียนต้องปรับตัวและมีนวัตกรรม ที่ยอมรับและสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างมีพลวัต แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกประเทศอาเซียนที่จะสามารถคิดค้นและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เจ้าของนวัตกรรม แต่อย่างน้อยเราต้องสามารถปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัยให้เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขของแต่ละประเทศสมาชิก (Digital ASEAN)

3. อาเซียนต้องสามารถเท่าทันและสามารถปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ และต้องมีนโยบายการปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาคมอาเซียนที่มีภูมิคุ้มกัน (Resilient) ยั่งยืน และมีความมั่นคง โดยเฉพาะมิติด้านพลังงาน ที่ในอนาคตอาเซียนมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานมากกว่าที่ตนเองสามารถผลิตได้ ดังนั้นพลังงานทางเลือกจึงเป็นประเด็นสำคัญ (Sustainable ASEAN)

4. อาเซียนต้องบูรณาการและเชื่อมโยงทุกประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) ภายใต้หลักปฏิบัติและการกำกับดูแลที่ดี (Good Regulatory Practice and Good Governance)

5. อาเซียนต้องมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของประชาชนอาเซียน โดยต้องพัฒนาคนอย่างครอบคลุมในทุกมิติและให้ทุกภาคส่วน หรือที่นิยมกล่าวกันว่า เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive ASEAN)

6. อาเซียนต้องทำให้ ประชาชนอาเซียนรู้สึกตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม ประชาชนอาเซียนต้องได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียนและมีอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Belonging and ASEAN Identity)

7. สถาปัตยกรรมการบูรณาการภูมิภาคของอาเซียนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลกับกิจกรรมต่างๆ ของประชาคมอาเซียน บทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน และโครงสร้างความสัมพันธ์และการดำเนินนโยบายของอาเซียนต้องถูกนำมาทบทวน (Strong and Effective ASEAN Institutional Ecosystem)

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ความภาคภูมิใจของไทยในประชาคมอาเซียน ตั้งแต่เมื่อ 52 ปีที่แล้ว และจะเดินหน้าสร้างประชาคมอาเซียนต่อไปตลอดกาล

 

73 ปีอาเซียน 1967-2040