หนุนเจรจายุติ ปมค่าโง่ทางด่วน

13 ส.ค. 2562 | 06:00 น.

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวีระกรคำ ประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน กมธ. เชิญผู้แทนจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) ที่มีนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บีอีเอ็ม และคณะมาชี้แจงโดยนายพงษ์สฤษดิ์ ยืนยันว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเจรจา บีอีเอ็ม ยินดีที่จะยุติข้อพิพาททั้งหมด หากสู้จนคดีต่างๆ ถึงที่สุดบีอีเอ็มเชื่อว่าจะชนะในทุกคดี แต่มองว่าท้ายที่สุดอาจสร้างความเสียหายแก่รัฐ และต้องไปกระทบต่อเงินภาษีของประชาชนเป็นแสนๆล้านบาท

ภายหลังผู้แทนบีอีเอ็มชี้แจงเสร็จ กมธ.ส่วนใหญ่ได้สอบถามถึงแนวทางการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยรวมการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ขึ้นมามีความจำเป็นและคุ้มค่าการลงทุนเพียงใด 

หนุนเจรจายุติ  ปมค่าโง่ทางด่วน

นายพงษ์สฤษดิ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การลงทุนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 จำเป็นต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรก่อนจะวิกฤติมากกว่านี้ แต่ก็ยอมรับว่าทำได้ยาก และมีผลในการเพิ่มปริมาณรถเพียงเล็กน้อย ประมาณ 10% เท่านั้น ในแง่ธุรกิจถือว่าไม่คุ้มค่า หากให้คนอื่นมาลงทุนก็คงไม่มีใครทำแน่นอน เพราะไม่สามารถเก็บเงินค่าผ่านทางเพิ่มได้ แต่ บีอีเอ็มมองในภาพรวมถึงโอกาสทางธุรกิจ ที่สามารถนำรายได้ส่วนอื่นมาอุดหนุนค่าก่อสร้างในส่วนนี้ แต่จะต้องให้ครม.มีมติอนุมัติโครงการในภาพรวมเสียก่อน และลงนามสัญญาส่วนที่ 1 เพื่อยุติข้อพิพาท และส่วนที่ 2 การก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 จะยังไม่มีการลงนาม จนกว่า EIA จะผ่าน ส่วนนี้ทาง อัยการฯได้แก้ไขมาในร่างสัญญาแล้ว

ขณะที่กมธ.ตั้งข้อสังเกตหลากหลาย อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธาน กมธ. และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีอีเอ็มสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556 ได้หรือไม่อย่างไร และการที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนดให้พิจารณาต่อสัญญากระทำก่อนสิ้นสุดสัญญา 5 ปี แต่สัญญาของบีอีเอ็มจะมีสิ้นสุดในปี 2563 หนึ่งเส้นทางนั้นจะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายหรือไม่

ภายหลังจากจบการชี้แจงของผู้แทนบีอีเอ็ม นายวีระกร และ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. รวมถึง กมธ.หลายราย ต่างแสดงความเห็นว่าแนวทางการเจรจากับบีอีเอ็ม ที่ลดค่าเสียหายลงมาเหลือเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท ถือว่ามาถูกทางในการช่วยบรรเทาความเสียหายของรัฐและยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 

หนุนเจรจายุติ  ปมค่าโง่ทางด่วน

นายชาดากล่าวช่วงหนึ่งว่า “เชื่อว่าบทสรุปของเรื่องนี้คงต้องต่อสัญญากับบีอีเอ็ม แต่อยากฝากให้ บีอีเอ็ม กลับไปพิจารณาร่วมกับ กทพ.เพิ่มเติม ในการเสนอประโยชน์ให้แก่ประชาชนให้มากที่สุดทั้งในเรื่องค่าผ่านทาง หรือการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อที่ กมธ. และรัฐบาล สามารถอธิบายเหตุผลในการสนับสนุนต่อสัญญาสัมปทานกับสังคมได้” ทั้งนี้ นายวีระกรได้ระบุก่อนปิดการประชุมด้วยว่าแนวทางนี้น่าจะใกล้เคียงกับข้อสรุปผลการศึกษาของกมธ.ในครั้งนี้

หน้า 1 ฉบับที่ 3,495 วันที่ 11 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BEMเชื่อมั่นขยายสัมปทานยุติข้อพิพาททางออกที่ดีที่สุด

เดิมพันทางด่วนแสนล. " BEM " ลดค่าเสียหายอื้อแลกสัมปทาน 30 ปี

'สามารถ' เดินหน้าไล่ล่า 'ไอ้โม่ง-รัฐบาลปี40' ต้นทางค่าโง่ทางด่วน

ถก กมธ.ล่ม! “หมอระวี” แก้มติ เชิญแค่สหภาพฯแจงสัมปทาน

สหภาพกทพ. ร้อง "บิ๊กตู่" เบรกครม.ไฟเขียวร่างสัญญาสัมปทาน

ยื่นประธานรัฐสภา หยุดค่าโง่ทางด่วนกทพ.

สหภาพฯลุ้นบอร์ดกทพ.ประชุม23 มค.นี้ เคลียร์คดีค่าโง่ทางด่วนข้อพิพาทอัปยศ

 

หนุนเจรจายุติ  ปมค่าโง่ทางด่วน