หวั่นส่งออกยุโรปกู่ไม่กลับผวาก่อการร้าย

30 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
สินค้าไทยผวา กลุ่มไอเอสขู่ป่วนก่อการร้ายอีกทั่วยุโรป หวั่นทุบส่งออกไทยไปอียูกู่ไม่กลับ กลุ่มอัญมณีชี้กระทบเต็ม ๆ เหตุนักช็อปหวั่นไม่ปลอดภัย ลดใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะรถยนต์ลุ้นสถานการณ์กระทบแค่ระยะสั้น หวังครึ่งหลังฟื้นคงเป้าส่งออก 1.22 ล้านคัน การ์เมนต์ชี้ คู่ค้ายังไม่แจ้งปรับแผนส่งมอบ ไก่สั่งจับตายอดขอโควตานำเข้าอียู เม.ย.นี้ ชี้อนาคต "อภิรดี"สั่งทูตพาณิชย์เกาะติดสถานการณ์ กัดฟันคงเป้าส่งออกตลาดอียูปีนี้โต 3% "พาณิชย์"แถลงส่งออกไทยเดือนก.พ.59 พลิกบวกครั้งแรก

[caption id="attachment_41124" align="aligncenter" width="700"] สินค้าส่งออก 5 ลำดับแรงของไทยไปตลาดสหภาพยุโรป (28 ประเทศ) ย้อนหลัง 3 ปี สินค้าส่งออก 5 ลำดับแรงของไทยไปตลาดสหภาพยุโรป (28 ประเทศ) ย้อนหลัง 3 ปี[/caption]

จากเหตุก่อการร้ายที่มีเป้าหมายในยุโรป เริ่มจากกรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่มีผู้เสียชีวิต 130 คน ล่าสุดวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมาได้ลุกลามเข้าสู่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางบริหาร หรือเมืองหลวงของสหภาพยุโรป(อียู) มีผู้เสียชีวิต 31 คน และบาดเจ็บกว่า 270 คน โดยกลุ่มไอเอสซึ่งออกมาแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ขู่จะก่อเหตุที่มีความเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิมอีกในยุโรปในเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ดีจากที่สหภาพยุโรป(28ประเทศ) เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย มีสัดส่วน 10.2% ในปีที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดสหภาพยุโรปถึงผลกระทบต่อเหตุการณ์ล่าสุด ตลอดจนทิศทางแนวโน้มตลอดทั้งปี2559

 อัญมณีกระทบเต็ม ๆ

นายสุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปตลาดเบลเยียม และอันดับ 2 ที่ส่งไปตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูในภาพรวม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดอียูค่อนข้างมาก เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ในตลาดตะวันออกกลางหนึ่งในตลาดของสินค้าอัญมณีฯก็ยังไม่สงบ และกระทบต่อการค้าโลก พอมีเหตุการณ์ซ้ำอีกในเบลเยียมจะกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในเบลเยียมและอียูในภาพรวมที่จะลดการเดินทาง ลดการช็อปปิ้ง และลดการจับจ่ายใช้สอย เพราะเกรงไม่ปลอดภัย

"สินค้าอัญมณีฯมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอียูกว่า 25% ซึ่งถือว่ามาก และถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หากมู้ดคนไม่ดีก็จะลดการจับจ่าย แม้เวลานี้เศรษฐกิจของอียูจะยังทรงๆ แต่มีแนวโน้มดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่สัญญาณจากงานแสดงสินค้าอัญมณีที่เมืองวิเชนซ่า ของอิตาลีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ไม่ดี งานบาเซิล แฟร์ ที่สวิตเซอร์แลนด์ที่ยังจัดอยู่เวลานี้ ฟังจากคนไปออกงานก็ค่อนข้างเงียบ บ่งบอกสัญญาณปีนี้ยังไม่ค่อยดี หากเกิดเหตุก่อการร้ายอีกก็จะยิ่งแย่ลง"

อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางสมาคมตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป)ในภาพรวมไปทุกตลาดทั่วโลกขยายตัวได้ที่ 5%(จากปี 2558 ส่งออกมูลค่า 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9%) ซึ่งจากผลกระทบจากตลาดอียู ผู้ประกอบการคงต้องหันไปพึ่งตลาดอื่นๆ ที่ยังไปได้ดีมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน

 รถยนต์ชี้หากเกิดอีกแย่แน่

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของไทยไปเบลเยียม และอันดับ 3 ที่ส่งออกไปอียู กล่าวว่า ในปี 2558 อียูเป็นตลาดส่งออกสินค้ารถยนต์ของไทยสัดส่วน 13% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 6% เป็นผลจากเศรษฐกิจของยุโรปค่อย ๆฟื้นตัว ทำให้ช่วง 16-18 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยไปอียูได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นรถอีโคคาร์ และในปีนี้ช่วง 2 เดือนแรกส่วนใหญ่เป็นการส่งออก รถ PPV (รถปิกอัพดัดแปลง)ที่มีราคาสูง

"เราหวังรัฐบาลของประเทศในอียูจะกอบกู้สถานการณ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และคาดหวังตลาดส่งออกรถยนต์ช่วงครึ่งหลังจะดีขึ้น ค่ายรถยนต์เวลานี้ก็ยังไม่ได้ปรับแผนไปจากเดิม โดยภาพรวมเรายังคงเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปีนี้ไว้ที่ 1.22 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออก 1.20 ล้านคัน"

 การ์เมนต์ชี้ยอดวูบตามศก.

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และประธานบริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด และไฮ-เทคกรุ๊ป กล่าวว่า ในปี 2558 อียูเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)อันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ โดยตลาดอียูมีสัดส่วน20% ลดลงจากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 24% ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยมีตลาดหลักที่ประเทศเยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามลำดับ สำหรับเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเบลเยียมซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของยุโรปย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของอียูอย่างแน่นอน เพราะเบลเยียมถือเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญในกลุ่ม

"เบลเยียมโดยลักษณะจะเป็นตัวกระจายสินค้าเข้ากลุ่มยุโรป ซึ่งเหตุการณ์มีผลต่อการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ระหว่างประเทศในยุโรปจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมการส่งออกการ์เมนต์ไปตลาดอียูในไตรมาสแรกของปีนี้คาดจะยังติดลบ และในภาพรวมการส่งออกการ์เมนต์ไปทั่วโลกของไทยในภาพรวมไตรมาสแรกก็คาดจะติดลบที่ประมาณ 6% หากไม่มีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีกคาดในไตรมาสที่เหลือการส่งออกการ์เมนต์จะขยายตัวดีขึ้น เบื้องต้นผู้ซื้อในยุโรปยังไม่แจ้งปรับแผนการส่งมอบสินค้าแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่ยังส่งมอบทางเรือ เป็นหลัก"

 ผลิตภัณฑ์ยางกระทบช่วงสั้น

สอดคล้องกับที่ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท. ที่กล่าวว่า เบลเยียมถือเป็นทางผ่านในกระจายสินค้าสู่ยุโรป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อระบบการขนส่ง และการเดินทางของผู้คน และภาคธุรกิจที่อาจไม่สะดวกและมีความเข้มงวดในการตรวจตรามากขึ้น รวมถึงผู้คนหากไม่จำเป็นก็จะไม่ออกจากบ้านในช่วงสัปดาห์แรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้อาจงดหรือชะลอออกไปก่อน หากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีก จะกระทบในช่วงสั้น ๆ และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง (มียางล้อรถยนต์เป็นสินค้าหลัก) เป็นสินค้าอันดับ 6 ที่ไทยส่งออกไปเบลเยียมและอียูในภาพรวมไม่กระทบจากเหตุการณ์มาก ขณะที่ในปีนี้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปทุกตลาดของไทยตั้งเป้าจะขยายตัวได้ที่ 5% (จากปี 2558 ส่งออก 6.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาทที่ 2.30 แสนล้านบาท)

 ไก่ยังปกติ แต่ต่อราคาแหลก

นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกสินค้าไก่ เผยว่า หลังเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเบลเยียม ตลาดอียูในภาพรวมยังมีการนำเข้าไก่ตามปกติ ไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ แต่มีการต่อรองราคาสินค้ามากขึ้น และจากที่เวลานี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น ทำให้ได้รับเงินค่าสินค้าลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ในปี 2558 อียูถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าไก่ของไทยสัดส่วนประมาณ 41% โดยมีตลาดหลักที่อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียม โดยในแต่ละปีไทยได้รับโควตานำเข้าในอัตราภาษีต่ำรวมประมาณ 2.62 แสนตัน (ไก่แปรรูป 1.7 แสนตัน ไก่หมักเกลือ 9.2 หมื่นตัน) โดยสินค้าในโควตาของปี 2559 (แบ่งออกเป็น 4 ไตรมาส) ผู้นำเข้าจะเริ่มขอโควตานำเข้าสำหรับไตรมาสแรกในเดือนเมษายนนี้

"ราวกลางเดือนเมษายนนี้จะรู้ยอดขอโควตาของผู้นำเข้าแต่ละรายในช่วงไตรมาสแรกว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ถ้าตลาดบริโภคลดลงก็จะปรากฏในการขอโควตานำเข้าที่ลดลง โดยปีนี้ทางสมาคมฯคาดการส่งออกสินค้าไก่ไปทุกตลาดจะทำได้ที่ประมาณ 7 แสนตัน มูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วส่งออก 6.8 แสนตัน มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท โดยที่เพิ่มขึ้นจะมาจากตลาดญี่ปุ่นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่คาดจะมีการนำเข้าไก่สดจากไทยเพิ่มขึ้น"

 สั่งทูตพาณิชย์เกาะสถานการณ์

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปเบลเยียม ภาพรวมยังไม่กระทบ เพราะไทยยังคงส่งออกไปได้ เนื่องจากท่าเรือที่เบลเยียมไม่ใช่ท่าเรือปลายทางสำคัญในการส่งออกของไทย แต่ส่วนใหญ่จะเข้าทางท่าเรือที่อัมสเตอร์ดัม และรอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์มากกว่า และส่วนใหญ่และกระจายสินค้าต่อไปทางรถยนต์เป็นหลัก แต่ก็อาจจะมีผลกระทบในด้านความเข้มงวดในการตรวจสอบความปลอดภัย เพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในภูมิภาคยุโรป ติดตามสถานการณ์และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสถานการณ์การค้าของไทย

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบด้านจิตวิทยาในระยะสั้น แต่ระยะกลางและยาว ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ซึ่งไทยยังคงมั่นใจว่าการส่งออกไปยังตลาดอียูจะเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 3% (ปี 2558 ไทยส่งออกไปตลาดอียูมูลค่า 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 5.9% เมื่อเทียบกับปี 2557)"
-ส่งออกพลิกบวกรอบ 13 เดือน

สำหรับภาพรวมด้านส่งออกของไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึง การส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีมูลค่า 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พลิกกลับมาเป็นบวก 10.27% หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 13 เดือน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 16.82% ส่งผลให้ดุล การค้าเกินดุล 4.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกขยายตัวได้ 0.67% หรือมีมูลค่า 3.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าติดลบ 14.54% หรือมีมูลค่า 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของปีนี้เกินดุลการค้า 5.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้การส่งออกของไทยพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

โดยสาเหตุเกิดจากที่การส่งออกทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,050% โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 6.1% และสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.4% คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 3.8% รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านปริมาณที่หลายสินค้ากลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดหลักส่งออกสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนเดิม กลับมาขยายตัวเป็นบวก ขณะที่คู่ค้าสำคัญอย่างตลาด CLMV กลับหดตัว เช่นเดียวกับจีน ที่ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559