ทุนทีวีดิจิตอลสุดทน ยื่นร้องคสช.ยืดจ่ายงวด 3 ขอต่อชีพจรธุรกิจ

30 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
ทุนทีวีดิจิตอลสุดทนรวมตัวยื่นหนังสือต่อคสช. รายงานผลการทำงานกสทช. ที่ละเลย ล่าช้า ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลล้มเหลว ย้ำขอความยุติธรรม พร้อมเลื่อนชำระเงินค่างวด 3 หวังนำเงินไปหมุนเวียนซื้อคอนเทนต์ และพัฒนาเทคโนโลยี

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ “พีพีทีวี เอชดี” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในเดือนเมษายนนี้บริษัทและผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลกว่า 10 ช่อง จะรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานผลการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ดำเนินการละเลย ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล เช่น การแจกคูปองสนับสนุนประชาชน โครงข่ายทีวีดิจิตอลไม่มีประสิทธิภาพ การประชาสัมพันธ์ยังไม่ครอบคลุม เป็นต้น อีกทั้งจะขอให้เลื่อนกำหนดการชำระเงินงวดที่ 3 ที่จะต้องจ่ายในเดือนพฤษภาคมนี้ออกไปก่อน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการแต่ละช่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการร้องเรียนทั้งหมดที่จะส่งถึง คสช. โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้จะมุ่งตรงสู่หัวหน้าคสช. และหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งหมด ได้ประชุมและหาทางออกร่วมกับคณะกรรมการกสทช. พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอ 10 ข้อที่กสทช.ควรจะต้องแก้ไข คือ 1 ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 3 2.การขอขยายเวลาใบอนุญาตออกไป 3.การขอหยุดพักประกอบกิจการหากไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้

4. การเยียวยาให้ผู้ประกอบการกรณีต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ คูปอง เป็นต้น 5.การเรียงช่องทุกแพลตฟอร์ม 6.การแจกคูปองเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านครัวเรือนจากปัจจุบันที่แจกไปแล้ว 13.7 ล้านครัวเรือน 7.เร่งการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมและเข้าถึงทุกครัวเรือน 8. การวัดเรตติ้ง 9. ค่าธรรมเนียมจัดเข้ากองทุนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) และ10.ดำเนินกฎมัสต์แครี่ แต่ล่าสุดมติบอร์ด กสทช.สามารถทำได้เพียงแค่ข้อเดียว คือ การแจกคูปองเพิ่ม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องหาทางออกขั้นตอนสุดท้ายคือการร้องเรียนผ่าน คสช.

“มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมหลังจากที่กสทช. ละเลยหน้าที่ต่อการทำงานของตนเอง หรือผิดสัญญาต่อคู่ค้า เมื่อย้อนดูที่ผ่านมาภาคเอกชนดำเนินงานตามกรอบที่ภาครัฐกำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง และไม่เคยผิดนัดการชำระเงินแม้แต่หนเดียว แต่ในด้านการทำงานของกสทช.ที่เคยรับปากไว้กับเอกชนตั้งแต่ก่อนประมูลกลับไม่สามารถดำเนินได้ตามกรอบระยะเวลาที่เคยให้ไว้ และแม้บางเรื่องจะสามารถดำเนินงานไปบ้างแล้ว แต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะโครงข่ายสัญญาณทีวีดิจิตอล และการประชาสัมพันธ์ต่อผู้ชมที่ยังไม่ครอบคลุม

ขณะเดียวกันการยื่นหนังสือร้องเรียนครั้งนี้ต่อ คสช.เพื่อหวังให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ประกอบการ ซึ่งหากคสช.สามารถหาทางออก หรือเลื่อนชำระเงินประมูลค่างวดที่ 3 ก่อนวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ได้ (วันครบกำหนดจ่ายค่างวดที่ 3 ) นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากการผ่อนปรนชำระค่างวดที่ 3 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนไปใช้ลงทุนในบริษัทและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น รวมทั้งมีเงินสำหรับประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอลด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามหากปัญหาดังกล่าว ไม่ได้รับกระบวนการความยุติธรรมและความเห็นใจจากศาลปกครอง และคสช. บริษัทเชื่อว่าอาจจะมีผู้ประกอบการบางกลุ่มไม่พอใจและยกเลิกกิจการทำธุรกิจทีวีดิจิตอล และหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริงจะส่งผลกระทบหนักต่อบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมีจำนวนนับพันนับหมื่นราย รวมถึงรายได้ที่ภาครัฐได้ก็จะหายไป

ด้านนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ “ไทยรัฐทีวี” กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การรวมตัวยื่นเรื่องต่อ คสช.ครั้งนี้ไทยรัฐทีวีจะเป็นภาคีผู้ประกอบการของช่องทีวีดิจิตอลรายเดิมจำนวน 7 ช่อง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันการยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ต้องการเรียกร้องความยุติธรรม และต้องการให้เห็นว่าใครผิดใครถูก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการถูกสั่งให้ทำตามสัญญาของกสทช. แต่ในขณะที่กสทช.ไม่เคยทำตามสัญญาของผู้ประกอบการเอกชนเลยสักครั้ง

“การยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการปฏิเสธการชำระค่าประมูล แต่อยากขอให้เลื่อนหรือขยายเวลาออกไปก่อน เนื่องจากบริษัทและผู้ประกอบการเอกชนจะได้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนและพัฒนาด้านอื่นๆ ก่อน อีกทั้งที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและผู้ประกอบการทุกรายก็จ่ายตรงตามกำหนด แต่ด้านผลงานของกสทช.ที่เคยสัญญาไว้กลับไม่สอดคล้องกับเงินลงทุนของเอกชนที่จ่ายไป โดยค่างวดที่ 3 ที่ไทยรัฐทีวีจะต้องจ่ายเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท จาก 2 งวดแรกที่จ่ายไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท”

ขณะที่นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท 3 เอมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ “ไบร์ททีวี” กล่าวว่า บริษัทเห็นด้วยกับการเลื่อนชำระค่างวดที่ 3 ออกไปก่อน ซึ่งการเลื่อนครั้งนี้ไม่ใช่การขอลดค่าธรรมเนียมหรือไม่จ่ายค่าใบอนุญาต แต่เพียงขอให้ชะลอการจ่ายออกไปก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนพัฒนาคอนเทนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ ให้ดีขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาคำสัญญาที่กสทช.เคยรับปากไว้ก็ไม่เป็นไปตามบอก

“เหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเหมือนคนจ้างก่อสร้างบ้านและผู้รับเหมา ขณะที่ผู้จ้างจ่ายเงินตามกำหนดระยะเวลาต่อเนื่อง แต่ผู้รับเหมากลับก่อสร้างบ้านไม่เป็นไปตามแปลนที่วางไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้จ้างงานจะขอชะลอการจ่ายเงิน หากผู้รับเหมาไม่สร้างตามแปลนที่วางไว้”

ด้านนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 กล่าวว่า จีเอ็มเอ็มเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ร่วมกันยื่นหนังสือต่อศาลปกครองฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกสทช. และจะยื่นหนังสืออีกครั้งหากกสทช. ยังยืนยันให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่างวดที่ 3 ซึ่งจะถึงกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะบริษัทต้องการทวงสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ หลังจากที่จ่ายเงินค่างวดไปแล้วรวมกว่า 60%

“พวกเราไม่ได้ขอร้อง แต่มาเพื่อทวงถามสิทธิ์ที่ควรจะได้รับว่าเมื่อเราจ่ายไป 60% แล้ว แต่คุณยังไม่ได้ทำอะไรให้เราเลย แม้แต่การเรียงช่อง มัสแครี่ ฯลฯ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือการเลื่อนเวลาการจ่ายเงินไปก่อน และเมื่อ กสทช. ดำเนินการครบถ้วนตามข้อกำหนดเราก็จะจ่ายเงินทันที ไม่ใช่เราไม่มีเงิน เรามีเงิน แต่เราจะจ่ายให้อย่างไร ในเมื่อคุณยังไม่ให้ของ ยังไม่ทำหน้าที่ของคุณ เน้นแต่เก็บเงินอย่างเดียว ตอนนี้อยากให้ผู้ใหญ่ของรัฐบาลลงมาช่วยดู เพราะหลังจากที่ยื่นศาลไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ”

อย่างไรก็ดีในเดือนสิงหาคม 2558 ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวน 5 ช่อง ได้แก่ ช่องวัน 31 จีเอ็มเอ็ม 25 พีพีทีวี ไทยรัฐทีวี และไบร์ททีวี ได้ยื่นฟ้องกสทช. สำนักงานกสทช. และเลขาธิการกสทช. ต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งให้กสทช. ปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช.ละเลย ล่าช้าในการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ เป็นระบบดิจิตอล ละเลยล่าช้าในการควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานหรือคุณภาพของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ละเลยต่อหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ประกาศเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าในการประกอบการทีวีดิจิตอล การแจกคูปองสนับสนุนประชาชน การขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลและการกำกับดูแลผู้ประกอบการโครงข่าย ไม่ส่งเสริมสนับสนุนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ พร้อมเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 9.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ช่องเนชั่นทีวี และ Now 26 ได้ยื่นฟ้องกสทช. ร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มแรก พร้อมเรียกค่าเสียหายรวมเกือบ 3 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559