เปิดข้อมูลอุตสาหกรรม ยุบเรือ-ต่อเรือ ในบังกลาเทศและโอกาสของไทย

14 ส.ค. 2562 | 01:00 น.

คอลัมน์ชี้ช่องทางการทูตโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา

บังกลาเทศเป็นศูนย์ กลางการยุบเรือเป็นเศษเหล็กที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2  ของโลก รองจากอินเดีย โดยในปี 2560 มีเรือถูกส่งมายุบในบังกลาเทศจํานวน 6.26 ล้านตัน คิดเป็น 27.32% ของเรือที่ถูกยุบทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณ 22.91 ล้านตัน (ข้อมูลจากรายงานประจําปี Review of Maritime Transport 2018 ของ UNCTAD) อย่างไรก็ดี ปริมาณเรือที่ถูกส่งมายุบในบังกลาเทศในปีที่แล้วได้ลดลงจาก 8.24 ล้านตันในปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ปริมาณเรือที่ถูกยุบลดลง เนื่องจากอัตราการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเรือดีขึ้น (improved market optimism) แนวโน้มดังกล่าวเป็นผลมาจากต้นทุนการยุบเรือสูงขึ้นทั่วโลก

เรือที่ถูกยุบในปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นเรือบรรทุกนํ้ามัน ในขณะที่การยุบเรือขนส่งคาร์โกและเรือบรรทุกสินค้าเทลําลดลง สะท้อนอัตราการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเรือที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เรือบรรทุกนํ้ามันกว่า 54% ถูกส่งมายุบทําลายในบังกลาเทศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของทางการบังกลาเทศที่ระบุว่า เรือส่วนใหญ่ที่มีการถูกยุบในประเทศเป็นเรือบรรทุกนํ้ามัน

จากการเปิดเผยของ Bangladesh Ship Breakers and Recyclers Association พบว่า ปัจจุบัน ต้นทุนในการยุบเรือสูงขึ้น โดยอยู่ระหว่าง 400-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลูกค้าหลักในประเทศที่รับซื้อเศษเหล็กจากเรือที่ถูกยุบคือโรงงานผลิตเหล็กกล้าและโรงงานผลิตเหล็กเส้นประเภทรีดซํ้า เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและยานยนต์ อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อินเดียและจีนได้กลายเป็นแหล่งนําเข้าทางเลือกที่สําคัญขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า

นอกจากการยุบเรือแล้ว อุตสาหกรรมต่อเรือก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลบังกลาเทศให้ความสําคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยา เพื่อสร้างความหลากหลายในสินค้าส่งออก จากสถิติของ Export Promotion Bureau ระหว่างปี 2552-2560 บังกลาเทศมีรายได้จากการส่งออกเรือ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างลอยนํ้าอื่นๆ รวมประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบ ประมาณ 2561 (กรกฎาคม 2560-มีนาคม 2561) มีรายได้ประมาณ 30.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบังกลาเทศมุ่งเจาะตลาดเรือขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับประเทศผู้ต่อเรือรายใหญ่

เปิดข้อมูลอุตสาหกรรม ยุบเรือ-ต่อเรือ ในบังกลาเทศและโอกาสของไทย

ปัจจุบัน บังกลาเทศมีอู่เรือที่มีขีดความสามารถในการผลิตเรือที่ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ และส่งออกประมาณ 7 อู่ โดยมีบริษัท Western Marine Shipyard Ltd. และ Ananda Shipyard Ltd. เป็นผู้นําในการส่งออกเรืออันดับ 1 และ 2 ตาม ลําดับ ตลาดส่งออกสําคัญมีทั้งในยุโรป (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเยอรมนี) ในเอเชียและแปซิฟิก (ปากีสถาน อินเดีย และนิวซีแลนด์) และในแอฟริกา (เคนยา แทนซาเนีย แกมเบีย โมซัมบิก และ อูกานดา) 

รัฐบาลบังกลาเทศได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จำนวน 350 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเรือด้วย โดยในสาขาการต่อเรือ รัฐบาลบังกลาเทศร่วมกับองค์กรเอกชน สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และอู่ต่อเรือ ดําเนินการฝึกอบรมแรงงานอย่างต่อเนื่องและได้รับประกาศนียบัตรจาก DNV-GL (Det Norske Veritas-Germanischer Lloyd) ซึ่งเป็นบริษัทรับรองมาตรฐานชั้นนําแห่งหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมการเดินเรือ และจาก Bangladesh Technical Education Board (BTEB) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการกํากับดูแลและพัฒนาอาชีวศึกษาในบังกลาเทศ 

 

อุตสาหกรรมต่อเรือในบังกลาเทศมีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแม่นํ้าใหญ่ๆ ไหลผ่านหลายสายและมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 580 กิโลเมตร เรือต่างๆ ที่ใช้ในการคมนาคมและขนส่งตาม ลํานํ้าภายในประเทศและตามแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ต่อขึ้นภายในประเทศ จึงมีการสั่งสมความรู้ด้านเทคนิค ประสบการณ์และความชํานาญในระดับหนึ่ง ปัจจุบัน มีอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมบํารุงเรือที่ดําเนินกิจการอยู่กว่า 60 คู่ ทั่วประเทศ ในจํานวนนี้ เกือบ 70% ตั้งอยู่ใกล้กรุงธากาเมืองหลวง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายในอุตสาหกรรมการต่อเรือในบังกลาเทศ อาทิ การขาดแคลนเงินทุน เงินกู้จากธนาคารมีดอกเบี้ยสูง การขาดเงินอุดหนุนจากรัฐ เครือข่ายการตลาดยังไม่ดี โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ การก้าวให้ทันเทคโนโลยี และขีดความสามารถในการสร้างเรือขนาดใหญ่

ในระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2562 บังกลาเทศจะเป็น เจ้าภาพจัดงาน Bangladesh International Marine and Offshore Expo หรือ BIMOX2019 ที่กรุงธากา โดยจะเป็นงานแสดงสินค้า อุปกรณ์เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางทะเล ทั้งการเดินเรือ การต่อเรือ การ ยุบทําลายเรือ การขุดลอกร่องนํ้า งานวิศวกรรมนอกชายฝั่ง การบริหารจัดการท่าเรือ และโลจิสติกส์ทางทะเล ปีที่ผ่านมามีบริษัทเข้าร่วมแสดงในงาน 114 บริษัท มีผู้เข้าชมงานกว่า 8,000 คน ในจํานวนนี้ เป็นผู้แทนต่างชาติกว่า 300 คนจาก 14 ประเทศ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.marine-bangladesh.com หรือ www.savorbd.com/Bimox-2019.php 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3495 ระหว่างวันที่ 11 - 14 สิงหาคม 2562