ปราสาทหิน เมืองกีฬารู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบุรีรัมย์

12 ส.ค. 2562 | 07:10 น.

เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศลํ้าเมืองกีฬา 

ทายสิเอ่ย...คำขวัญประจำเมืองอะไร...ถ้าไม่มีคำว่าเลิศลํ้าเมืองกีฬา ก็คงเดากันไม่ถูกว่าจังหวัดอะไร..คราวนี้ยังโลดแล่นอยู่ในแดนดินถิ่นอีสาน...จังหวัดบุรีรัมย์...

ปราสาทหิน เมืองกีฬารู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบุรีรัมย์

ใครจะเชื่อว่าจังหวัดนี้จะมีของดีมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเมืองอื่นๆ ขับรถเที่ยวเองพ้นเขตเมืองโคราชก็เริ่มเข้าสู่เขตบุรีรัมย์ ใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมงขึ้นกับการจราจร แล้วแยกย้ายไปตามอำเภอต่างๆ หรือสบายหน่อยมีสนามบินสายการบินโลว์คอสต์ให้เลือกใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเท่านั้น จังหวัดนี้เดิมทีแหล่งท่องเที่ยวมักจะเป็นที่คุ้นเคย รู้จักกันอยู่แล้ว อาทิ

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ หรือปราสาทเขาพนมรุ้งที่เลื่องชื่อโดยเฉพาะการชมพระอาทิตย์ลอดช่องประตูปราสาทชมวนอุทยานเขากระโดง สถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาเนื่องจากเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ มีโบราณสถานกู่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง  มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์บนยอดเขา เขื่อนลำนางรอง เขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ ที่สันเขื่อนมีหินลอย (หินภูเขาไฟอีกชนิดหนึ่ง) เป็นก้อนและแผ่น สีสันแบ่งเป็นชั้นๆ สวยงาม 

ปราสาทบ้านบุ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง (นักแสวงบุญ) มีหลักฐานยืนยันอายุการสร้างและลัทธิทางศาสนาอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทเมืองตํ่าศาสนสถานที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้น เพื่อถวายพระศิวะ มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำเมืองหรือประจำชุมชน โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดินเครื่องถ้วยชามเคลือบสีนํ้าตาลและเคลือบสีเขียว เป็นต้น

ปราสาทหิน เมืองกีฬารู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบุรีรัมย์

แต่ครั้งนี้เราลงพื้นที่ขอพาไปชมศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มนํ้าและนกกระเรียนพันธุ์ไทยตั้งอยู่ที่ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเพิ่งเปิดให้เป็นศูนย์เรียนรู้หมาดๆ โดยเฉพาะเรียนรู้ชีวิตของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์ไปนานร่วม 50 ปี แต่แล้วก็ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดการผสมพันธุ์ จนกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง และนกนี้น่าสนใจตรงที่เป็นนกที่เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะ
มีผัวเดียวเมียเดียว เมื่ออีกตัวหนึ่งต้องตายไปก็จะใช้เวลาระยะหนึ่งจนกว่าจะมีตัวใหม่เข้ามาจึงทำให้การขยายพันธุ์ช้า และเมื่อออกไข่มาแล้ว1-2 ตัว แม่นกจะเลี้ยงเพียงแค่ตัวเดียว ไข่อีกฟองจึงถูกสัตว์อื่นกินไป จึงทำให้มีลูกเหลือรอดได้เพียงตัวเดียว

จนปัจจุบัน องค์การสวนสัตว์ประสบความสำเร็จ และมีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติได้มากถึง 105 ตัว มีชีวิตรอดในธรรมชาติ  71 ตัว และทำให้มีลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยเกิดในธรรมชาติ ไม่น้อยกว่า 15 ตัว ล่าสุดได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีก 10 ตัว การปล่อยสู่ธรรมชาตินี้หากจะติดตามชีวิต สามารถขึ้นหอคอยและใช้กล้องดูนก ดูได้ นอกจากจะเป็นนกกระเรียนแล้วยังจะได้พบเจอนกอื่นๆได้อีก หรือหากจะติดตามแบบง่ายๆ ตามที่ “App doo nok” ที่ทางทรูได้จัดทำไว้ มีนกให้ชมทุกชนิด และนักดูนกเมื่อพบก็สามารถแชร์ได้ App นี้โหลดได้ฟรีเลย

ศึกษาชีวิตนกกระเรียนพันธุ์ไทยแล้วก็มาเที่ยวต่อที่สนามช้าง อารีน่า ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ชมความอลังการงานสร้างของนายเนวิน ชิดชอบ ที่กล้าได้กล้าเสียในการสร้างทีมฟุตบอล และมุ่งมั่นที่จะทำให้บุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬา ดึงคนเข้าสู่จังหวัด สร้างรายได้ให้คนในจังหวัดมากขึ้น แล้วก็ทำได้จริง...ก่อนจะไปไกลกว่านี้...ย้อนมาถึงการพาชมสนามนี้เราได้เริ่มต้นชมพื้นที่สนาม อัฒจันทร์ที่นั่ง ห้องนักบอลฟากฝั่งทีมเหย้าทีมเยือน ใครใคร่ถ่ายภาพกับตู้นักเตะที่ชื่นชอบก็ได้ และที่น่าสนใจคือห้องวีไอพีที่ลงทุนนำกล้องภาพ 3 มิติ มาบอกเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของทีมฟุตบอล ความยิ่งใหญ่ บอกเลยว่าแค่ลงไปยืนในขอบสนามยืนหลับตา...มโนถึงบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลที่มีแฟนคลับ เข้าชมเต็มสนามร้องเพลงของทีมกระหึ่ม สร้างความฮึกเหิมให้นักบอลยิ่งนัก

ปราสาทหิน เมืองกีฬารู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบุรีรัมย์

นอกจากนี้เลยเข้าไปในพื้นที่เดียวกัน ไปชมสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต..ที่ลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท เรียกว่าสนามมาตรฐานโลกทีเดียว สำหรับการจัดรถแข่งทั้งในระดับประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ แต่ที่เราสนใจมากคือการจัดพื้นที่ให้เด็กแว้น...มาแข่งรถกันอย่างถูกต้องไม่ต้องออกไปแข่งให้เดือดร้อนชาวบ้าน ...สนามแข่งรถนี้ถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์มาตรฐานโลก ถนนเรียบกริบ เศษกรวดเศษใดๆมิมีได้เห็น งานนี้ก่อนที่จะได้ลงไปในสนามต้องมีรถนำว่าจะต้องวิ่งไปส่วนใดได้บ้าง ซึ่งเป็นการนำชมรอบสนามว่าส่วนใด พื้นที่ใดถูกกำหนดให้เป็นส่วนที่นั่งชม ส่วนของทีมแข่งรถ และไฮไลต์คือโค้งปราบเซียน เป็นต้น เชื่อแล้วว่าการสร้างสนามแห่งนี้สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดมากมาย เพราะการแข่งขันแต่ละครั้งใช้ระยะเวลา 3 วันผู้แข่งผู้ชมใช้เวลาในจังหวัดมากขึ้น และมักจองห้องพักล่วงหน้าเต็มทุกครั้ง

ใครไปเยือนเมืองบุรีรัมย์...แนะนำให้เช็กที่พักเสียก่อนว่ามีการแข่งขันแมตช์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนกัน แต่มีโอกาสก็น่าจะไปเยือนกันอีกสักครั้ง...

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,495 วันที่ 11 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ปราสาทหิน เมืองกีฬารู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบุรีรัมย์