ปิดฉาก ‘แจส 4 จี’ แต่คลื่น 900 ‘มหัศจรรย์’ ยังไม่จบ

30 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
แม้ "พิชญ์ โพธารามิก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ แจสโมบาย อ้างอิงความเห็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทว่า แจสโมบายต้องถูกริบเงินประกันประมูล จำนวน 644 ล้านบาท เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศกสทช. ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินประกัน 644 ล้านบาท รวมถึงไม่เป็นเหตุให้กสทช.ไปเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่น ๆ ที่กลุ่มจัสมิน บริษัทแม่ ได้รับจากกสทช.และใช้ประกอบกิจการในปัจจุบัน และการถูกริบเงินประกันการประมูลก้อนดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เสมือนแจสโมบายถือแต้มต่อเหนือกว่ากสทช. นั้น

[caption id="attachment_40977" align="aligncenter" width="503"] ไทม์ไลน์ประมูลคลื่น 900 ชุดที่ 1 ใหม่ ไทม์ไลน์ประมูลคลื่น 900 ชุดที่ 1 ใหม่[/caption]

 โต้วุ่น"ใคร"รับผิดชอบความเสียหาย

หากแต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ต้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นเช็คเงินสดราว 644 ล้านบาททันที รวมถึงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูล 4 จีที่ผ่านมา และจัดให้มีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์

ขณะที่กสทช.และรัฐบาลให้ริบเงินประกันและเรียกชดเชยค่าเสียหาย หากแต่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สวนทางตั้งข้อสังเกตปนกังขาว่า กสทช.จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นในการประมูลครั้งนี้หรือไม่ ค่าเสียโอกาสของภาครัฐที่ต้องสูญเสียรายได้ที่พึงได้ไป ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ เป็นต้น

พ.อ.ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ตามที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข่าวว่า รัฐมนตรีที่กำกับดูแลและกสทช. จะต้องรับผิดชอบ ต่อกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ดำเนินการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 1 และไม่ได้จัดส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือ ภายในระยะเวลาที่กำหนด นั้น

ขอเรียนชี้แจงว่า สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้ โดย กสทช. เป็นหน่วยงานที่จะต้องรายงานตรงต่อวุฒิสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทนวุฒิสภาในปัจจุบัน

 ตั้ง "อสส."ไล่บี้

เรื่องการเรียกค่าเสียหายยังไม่ครบ เพราะบอร์ดกทค.ได้ประชุมด่วน และมอบหมายให้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาแถลงข่าวว่า มติที่ประชุม กทค. ตั้งคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีแจสโมบาย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 คน โดยมีนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด หรือ อสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีกรรมการเป็นตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา,สำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุด,กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เป็นต้น

นอกจากนี้บอร์ดกทค.ยังแต่งตั้งนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม พิจารณาข้อสัญญาว่า มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตช่องโมโน 29 หรือไม่ โดยคณะทำงานทั้ง 2 ชุดต้องพิจารณาข้อมูลและทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันก่อนเสนอเข้าที่ประชุมกสทช.ภายในวันที่ 12 เมษายนนี้ เป็นวาระพิเศษ

 ปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกัน

จากบทเรียนกรณีแจสโมบายเบี้ยว ไม่จ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้อบกพร่องของกสทช.เองด้วย เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขกำหนดหลักประกันการเข้าประมูลเพียง 5% ของมูลค่าเริ่มต้น ที่กำหนดไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 644 ล้านบาท ด้วยวงเงินหลักประกันเพียงเท่านี้ ถ้าเปรียบเทียบกับวงเงินที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องลงทุนที่ระดับนับแสนล้านบาท ถือว่าเล็กน้อยมาก

การจะเปิดประมูลรอบใหม่ กทค.จึงได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ คือ เพิ่มสัดส่วนวงเงินประกันเป็นตั้งแต่ 10-30 % จากมูลค่าคลื่น 900 ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ที่แจสโมบายประมูลได้ราคาสุดท้ายที่ 7.5 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 7.5 พัน-กว่า 2 หมื่นล้านบาท) โดยจะจัดทำเป็นร่างประกาศประมูล แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน หากจัดฟังความคิดเห็นแล้วมีการเปลี่ยนแปลงต้องสรุปอีกครั้งหนึ่ง (ดูตารางประกอบ)

 ประมูลใหม่ 30 มิ.ย.นี้

ไม่เพียงเท่านี้จะมีราคาที่เสนอในการรับฟังความเห็นด้วย คือ บรษิ ทั ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดเคาะราคาสุดท้าย 7.3 หมื่นล้านบาท, บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ราคาดีแทค ที่เสนอสุดท้ายชุดที่ 1 ในราคา 7.1 หมื่นล้านบาทและบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์คจำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น เสนอราคาชุดที่ 2 ในราคา 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะรับฟังความเห็น เพื่อหาราคาเริ่มต้นการประมูล ส่วนการเคาะราคาครั้งถัดไปให้เพิ่มขึ้นรอบละ 2.5% โดยกสทช.คาดว่าจะประมูลได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

"เรื่องดีแทคไม่ให้ทรูมูฟ เอช เข้าร่วมประมูลจบข่าวนะ ทรูฯเข้าร่วมประมูลได้ และจะไม่ใช้ราคาเริ่มต้นที่ 1.6 หมื่นล้านบาทที่ดีแทค เสนอมา เพราะกทค.ได้ออกมติและประกาศต้องเป็นไปตามมติทั้งหมด"

 "เอไอเอส-ทรูมูฟ เอช"ซุ่มรอชัด

กรณีเงื่อนไขประมูลคลื่น 900 ใหม่ครั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 1 ใน 3 ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะเข้าประมูลหรือไม่ เพราะต้องนำเสนอบอร์ดให้พิจารณาก่อน
"ตอนแรกมั่นใจนะว่าแจสโมบายจะมาจ่ายค่าใบอนุญาต แต่จนนาทีสุดท้ายมารู้ว่าแจส ไม่มาจ่าย ก็ตกใจอยู่เหมือนกัน"

อย่างไรก็ตาม"ศุภชัย"เสนอว่า กสทช.ควรเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะไม่เช่นนั้น ทรูมูฟ เอช จะเป็นผู้ให้บริการมือถือเพียงรายเดียว ที่มีคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์อยู่ในมือ ซึ่งทรู คงจะลงทุนเต็มที่ในคลื่นที่ได้ใบอนุญาตมา

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสสนใจทุกโอกาส ของการประมูลคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตามสำหรับคลื่น 900 ต้องขอดูเงื่อนไขของกสทช. ก่อนเสนอบอร์ดพิจารณา และตัดสินใจว่าร่วมประมูลหรือไม่

ส่วนราคาที่เสนอครั้งสุดท้ายในการร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 4จี ย่านความถี่ 900 ครั้งที่ผ่านมา 7.5 หมื่นล้านเป็นราคาที่เหมาะสมในขณะนั้น แต่ขณะนี้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป หากเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4จี 900 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 2 ต้องพิจารณาราคาใหม่เช่นเดียวกัน"เอไอเอส อยากเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ แต่ขอดูเงื่อนไขที่ออกมาก่อน"

แม้"แจส 4 จี"ปิดฉากไป และกสทช.ได้ขึ้นแบล็กลิสต์ แต่จะจบแค่ถูกริบเงินประกันหรือต้องเผชิญชะตากรรมยุ่งยากยิ่งกว่านั้นวันที่ 12 เมษายนนี้รู้คำตอบ แต่ส่วนของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะนำมาประมูลใหม่ ยังต้องเจอบททดสอบอีกหลายด่าน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาเริ่มต้น ที่ให้ยืนราคาสุดท้ายของผู้ชนะประมูลครั้งก่อน จะเป็นราคาที่ 3 ยักษ์ค่ายมือถือเจ้าตลาด สนใจจะเข้าแย่งชิงหรือไม่ ยังต้องติดตาม

โดยถึง ณ จุดนี้ อุตสาหกรรมมือถือไทยยังคงผูกขาดอยู่กับ 3 กลุ่มทุนสื่อสาร คือ เอไอเอส-ดีแทค และทรูมูฟ เอช เมื่อน้องใหม่อย่างแจสโมบายที่ "พิชญ์"เคยบอกว่า "น้องคนนี้ก็แสบเหมือนกัน"ชิงปิดฉาก ทิ้งใบอนุญาตพร้อมปัญหานุงนังที่จะตามมาของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 2 ที่ต้องสะสางอีกหลายยก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559