ทิ้ง"ดอลลาร์"หนีค่าเงินผันผวน

09 ส.ค. 2562 | 09:15 น.

 

ค่าเงินผันผวน ส่งผลยอดใช้ดอลลาร์ ชำระราคาสินค้าลด แห่ใช้เงินสกุลภูมิภาคแทน แบงก์มองแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง เหตุประหยัดต้นทุน ลดความผันผวน แถมได้แรงหนุนจากธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานข้อมูลการชำระค่าสินค้าขาเข้าและขาออกของไทยไปยังภูมิภาค และการชำระเงินรายสกุลของปี 2558-2561 พบว่า ยังคงชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯถึง 80% และสกุลเงินอื่นๆอีก 20% แต่หากดูยอดรวมการชำระค่าสินค้าของไทยและอาเซียนพบว่า ปี 2561 ธุรกรรมที่ทำโดยสกุลเงินบาทสูงขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับปี 2558 ในสินค้าขาออก และเพิ่มขึ้น 21% ในสินค้าขาเข้า ขณะที่การชำระสินค้าขาเข้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.73% จากปี 2558

อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะการชำระค่าสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก โดยรวมของไทยในสกุลหยวน-จีน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 125% จากปี 2558 ในสินค้าขาเข้า และเพิ่มขึ้นกว่า 200% ในสินค้าขาออก และการชำระด้วยเงินบาทยังเติบโตสูงขึ้นกว่า 15% ของสินค้าขาเข้า จากปี 2558 และกว่า 24% ของสินค้าขาออก ขณะที่การชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 0.88% ในสินค้าขาเข้า และลดลง 1.66% ในสินค้าขาออก

 

ทิ้ง"ดอลลาร์"หนีค่าเงินผันผวน

ตรรก บุนนาค

 

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ภาพรวมธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging)และการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency)ในการซื้อขายมีมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)พบว่า แนวโน้มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในทุกกลุ่มธุรกิจโดยช่วงครึ่งปีเติบโต 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับปริมาณธุรกรรมการส่งออกและนำเข้าของไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัว

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขธุรกรรมของธนาคาร พบว่า สกุลเงินท้องถิ่นที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงและซื้อขายมากที่สุดและเติบโตสูง 3 อันดับแรกจะเป็นสกุลเงินรูเปีย-อินโดนีเซีย สกุลเงินรูปี-อินเดีย และสกุลเงินกีบ-ลาว ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีหลังมองว่า ทิศทางการใช้สกุลเงินท้องถิ่นจะขึ้นกับแนวโน้มการค้าโลก แต่เชื่อว่ามีแนวโน้มสดใส น่าจะขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่าครึ่งปีแรกที่เติบโต 15% เนื่องจากธปท.สนับสนุนให้เกิดการใช้มากขึ้น รวมถึงเป็นกลยุทธ์ส่วนหนึ่งของธนาคารที่มุ่งช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการของธนาคารด้วย

ผู้ประกอบการต้องการลดความผันผวนของดอลลาร์ด้วย จึงหันมาใช้สกุลท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มสดใส และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะแบงก์ชาติก็สนับสนุนให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยง

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า หลังจากธนาคารสามารถทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินสกุลเงินท้องถิ่นได้ครบ 13 สกุลเงินใน AEC+3 จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พบว่า แนวโน้มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและชำระเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนและความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวน โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนตัวกลางอย่างเงินสกุลดอลลาร์

 

ทิ้ง"ดอลลาร์"หนีค่าเงินผันผวน

อย่างไรก็ดี สัดส่วนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายและชำระเงินยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้สกุลเงินหลักของโลก เช่น ดอลลาร์ ปอนด์สเตอร์ริง และยูโร ในการซื้อขายอยู่ แต่อัตราการใช้จะมีขึ้นลงตามจังหวะ ทั้งนี้ ยอดการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของกสิกรไทยเพิ่มจาก 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2560 มาอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 โดยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้นจาก 31% มาอยู่ที่ 38%

 

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ บมจ.ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี)กล่าวว่า กระแสการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในธุรกรรมส่งออกและนำเข้าลดลงเล็กน้อย จาก 85-95% ลงมาอยู่ที่ 75-80% ขณะที่สัดส่วนการใช้ยูโร 10-15% และเยน-ญี่ปุ่นราว 5-7% ที่เหลือจะเป็นสกุลเงินปอนด์สเตอร์ริง ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน-จีน

ขณะที่การใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายระหว่างกัน อาจจะยังไม่เห็นปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการที่ทำทั้งนำเข้าและส่งออก อาจมีความเสี่ยงจากค่าเงินทั้ง 2 ด้าน เช่น นำเข้าจากจีนแต่ส่งออกไปอินโดนีเซีย หากผู้ประกอบการซื้อขายสกุลท้องถิ่นทั้ง 2 สกุลเงินคือ หยวนและรูเปีย จะมีความเสี่ยงจากค่าเงินทั้ง 2 สกุล แต่หากโค้ดเป็นดอลลาร์ทั้ง 2 ขา จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง โดยป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนได้ ดังนั้นการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมขาเดียว เช่น ส่งออกอย่างเดียว หรือนำเข้าอย่างเดียว

สำหรับทีเอ็มบีหลังเปิดตัว บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินหรือ Multi-Currency Account สำหรับธุรกิจส่งออกและลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมสกุลเงินต่างประเทศ ที่ให้สามารถบริหารจัดการหลายสกุลเงินสูงสุดได้ถึง 6 สกุลในบัญชีเดียวนั้น ผลตอบรับดีมีลูกค้าสมัครเข้ามาแล้วกว่า 80 ราย เพราะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีช่วงที่ค่าเงินผันผวนและช่วยลดต้นทุน โดยธุรกรรมสกุลเงินหลักๆ จะเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่า 90% รองลงมาจะเป็น เยน-ญี่ปุ่น และยูโร

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562

ทิ้ง"ดอลลาร์"หนีค่าเงินผันผวน