จีนยันพร้อมพยุงค่าหยวน จวกสหรัฐฯยัดเยียดสถานะ ‘ประเทศปั่นค่าเงิน’

06 ส.ค. 2562 | 21:32 น.

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน ( currency manipulator) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ที่สหรัฐฯจัดสถานะดังกล่าวให้กับประเทศคู่ค้า เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ผิดความคาดหมายมากนัก เพราะผู้นำสหรัฐฯกล่าวหาจีนในเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 เพียงแต่ในการประเมินสถานะของประเทศคู่ค้าโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯทุกๆรอบครึ่งปีเพื่อนำเสนอต่อสภาคองเกรส ไม่เคยมีการกล่าวหาจีนอย่างเป็นทางการว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ จีนหลุดข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปได้ที่เหตุผลหลักๆนั้นก็เพราะที่ผ่านมา ทั้งจีนและสหรัฐฯยังคงมีความพยายามที่จะเจรจาหาทางบรรลุข้อตกลงการค้ากันอยู่ สหรัฐฯจึงยังไม่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นกับจีนให้เสียบรรยากาศ

ประธานาธิบดีทรัมป์ และนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง

แต่หลังจากที่คณะเจรจานำโดยนายโรเบิร์ท ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) และนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง กลับจากการเจรจารอบล่าสุดที่เซี่ยงไฮ้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า จะขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มมีผลในวันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้ ถือเป็นการดับความหวังการเจรจาของทั้งสองฝ่ายอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯออกมาประกาศระบุสถานะจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินในตอนนี้ ทั้งๆที่ยังไม่ถึงวาระเสนอรายงานต่อสภาคองเกรส (ราวเดือนตุลาคม) จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่อิงหลักดำเนินการที่เคยทำมา แต่ก็เข้าใจได้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นอาวุธที่สหรัฐฯอยากนำออกมาใช้กดดันจีนนานแล้ว เมื่อการเจรจาล้มไม่เป็นท่า และจีนปล่อยค่าเงินหยวนอ่อนลงทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เมื่อต้นสัปดาห์ (5 ส.ค.) โดยธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ระบุว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนลงเป็นผลจากการกีดกันทางการค้า สหรัฐฯก็ถึงเวลานำข้อกล่าวหาเรื่องการปั่นค่าเงินออกมาใช้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการเขี่ยลูก เพื่อนำไปสู่การบุกซัลโวจีนด้วยมาตรการขึ้นภาษีมากขึ้น รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เช่นการห้ามบริษัทจีนเข้ารับงานประมูลโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือการกีดกันด้านการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ


 

พิสูจน์ตัวเอง พร้อมออกมาตรการดันค่าหยวน

ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จีนขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว “การกล่าวหาจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงินเป็นการกระทำโดยลำพังฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ และถือเป็นพฤติกรรมกีดกันทางการค้า ทำลายกฎกติกาสากลของโลกเกี่ยวกับการปริวรรตเงินตรา และสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลกระทบรุนแรงในเชิงลบต่อระบบการเงินระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ระบุ  และนอกเหนือจากการออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯแล้ว พีบีโอซียังปรับอัตราอ้างอิงรายวันของเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นเมื่อวันอังคารเพื่อแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงอย่างที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ ยังประกาศมาตรการที่จะช่วยให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นโดยจะนำเงินหยวนในรูปธนบัตรมูลค่ารวม 30,000 ล้านหยวนออกขายในตลาดฮ่องกงในช่วงสัปดาห์หน้า

ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ พร้อมประกาศมาตรการพยุงค่าเงินหยวน

“สหรัฐอเมริกาไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะกล่าวหาว่า จีนปั่นค่าเงินโดยพิจารณาเพียงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในวันเดียว” นายจาง อันหยวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไชน่า ซีเคียวริตี้ส์ ให้ความเห็น เขายังคาดการณ์ด้วยว่า การตัดสินใจดำเนินการที่ผิดรูปแบบและหลักการของสหรัฐฯในครั้งนี้ ทำให้คาดว่า สหรัฐฯมีแผนจะออกมาตรการลงโทษจีนเพิ่มเติมอีก  ขณะที่นายเอสวาร์ ปราสาท นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อดีตเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ผู้เชี่ยวชาญประเทศจีน ให้ความเห็นว่า เงื่อนไขที่จะทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯประกาศว่าประเทศใดมีพฤติกรรมปั่นค่าเงินนั้น พิจารณาจากการได้ดุลการค้าสหรัฐฯ  ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศนั้นๆ (เกินดุลอย่างน้อย 3% ของ GDP) และประวัติการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขเหล่านี้  เขามองว่า จีนยังไม่เข้าข่ายประเทศปั่นค่าเงิน


 

ด้านสื่อท้องถิ่นของจีนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของสหรัฐฯอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์ เดลี่ ซึ่งเป็นสื่อของทางการ ระบุว่า ประเทศมหาอำนาจควรจะต้องมีความรับผิดชอบในการปกป้องเสถียรภาพของโลกด้วยการสร้างเงื่อนไขและโอกาสสำหรับการพัฒนาร่วมกันของทุกประเทศ แต่มีบางคนในสหรัฐฯกำลังทำสิ่งที่ตรงกันข้าม

  ไอเอ็มเอฟเพิ่งระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่า ค่าเงินหยวนของจีนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ สื่อใหญ่ในฮ่องกง ยังระบุว่า ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจีนจะจงใจทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็ชะลอตัวลงอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์ของพีบีโอซีที่ชี้แจงว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนสะท้อนผลกระทบจากมาตรการทางภาษีและการกีดกันทางการค้า ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนในไตรมาสสองชะลอตัวเหลือเพียง 6.2% ลดจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 6.4% หากจีนจงใจลดค่าเงินหยวนในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับเศรษฐกิจของตัวเอง เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้เงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น จึงไม่มีเหตุผลที่จีนจะทำเช่นนั้น

 

ทั้งนี้ เกือบๆ 3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งจะระบุว่า ค่าเงินหยวนของจีนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯนั้น มีมูลค่าเกินจริงอยู่ 6-12%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

● ยกระดับสงครามการค้าไปอีกขั้น เมื่อสหรัฐฯตราหน้าจีนปั่นค่าเงิน

● จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน...ทางการไทยควรเตรียมรับมือ

● หยวนดิ่งรอบ11ปีธุรกิจไทยสลบ