นำเข้าก๊าซแอลพีจีเสรีสะดุด ผู้ค้าโวยรัฐกลับลำต้องรอเปิดประมูลโควตานำเข้าให้ชัดเจนก่อน

30 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
"สยามแก๊ส" โวย "พลังงาน" นโยบายนำเข้าแอลพีจีเสรีปั่นปวน ขอนำเข้า 4.4 หมื่นตันช่วงพฤษภาคมนี้ กลับไม่ได้รับอนุมัติ ทั้งที่บริษัทมีศักยภาพทำธุรกิจเทรดดิ้งแอลพีจีอยู่แล้ว ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานยัน รอความชัดเจนค่าเช่าคลังจากปตท.และการเปิดประมูลโควตานำเข้าให้ได้ข้อยุติ หวั่นเกิดภาวะล้นตลาด รวมถึงหากทำไม่ได้ตามแผนจริงจะเกิดภาวะขาดแคลน

นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กระทรวงพลังงานได้มีนโนบายเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 นั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้หารือและทำหนังสือขออนุมัติการนำเข้ากับทางกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) ไปแล้ว เพื่อขอนำเข้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 จำนวน 4.4 หมื่นตัน แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ยืนยันว่าบริษัทมีศักยภาพการนำเข้าแอลพีจี เนื่องจากที่ผ่านมาได้ซื้อขายแอลพีจีเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศจำนวน 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 2 แสนตันต่อเดือนอยู่แล้ว โดยจะซื้อแอลพีจีจากตะวันออกกลาง เพื่อมาเก็บไว้ในคลังแอลพีจีที่เมืองจูไห่ และเมืองซัวเถา ประเทศจีน สามารถรองรับได้ 3 แสนตัน นอกจากนี้ยังมีคลังแอลพีจีลอยน้ำที่สิงคโปร์อีก4.4 หมื่นตัน รวมทั้งยังมีพันธมิตรทางธุรกิจแอลพีจีหลายราย ดังนั้นจึงมั่นใจว่าบริษัทมีศักยภาพนำเข้า แต่เมื่อจะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศตามนโยบายเปิดเสรีกลับยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากทางภาครัฐ

นอกจากนี้บริษัทยังได้หารือกับทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอเช่าคลังแอลพีจีส่วนขยายที่เขาบ่อยา โดยคลังดังกล่าวเดิมรองรับได้ 1.3 แสนตัน เพิ่มเป็น 2.5 แสนตันต่อเดือน ซึ่งทาง ปตท.ก็ตอบตกลง และอยู่ระหว่างพิจารณาค่าเช่าคลัง ดังนั้นการที่บริษัทขอนำเข้าแอลพีจีในครั้งนี้จึงไม่น่าจะติดขัดอะไร ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการแอลพีจีบางรายมีปัญหาเรื่องการนำเข้าแอลพีจีนั้น อย่าเอาบริษัทมาเทียบกัน เพราะบริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายแอลพีจีในต่างประเทศในปริมาณมากอยู่แล้ว

"บริษัทยังรอความชัดเจนจากทาง ธพ. เพื่อนำเข้าแอลพีจีในเดือนพฤษภาคม 4.4 หมื่นตัน ส่วนราคาที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ที่ CP+85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน บริษัทก็สามารถทำได้ ซึ่งทาง ธพ.ก็ยังไม่มีคำตอบกับทางบริษัทอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เร่งให้เอกชนนำเข้าแอลพีจีเสรีตามโรดแมป บริษัทมีความพร้อมเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีเอง การที่ ธพ.จะเอาผู้ประกอบการแอลพีจีทั้งหมดมาเปรียบเทียบกันนั้น เป็นการไม่สมควร เพราะบริษัทมั่นใจในศักยภาพสามารถจัดหาแอลพีจีได้ตามสัญญา และในระดับราคาที่กำหนด"นางจินตนา กล่าว

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรม ได้ตัดสินใจชะลออนุมัติคำขอนำเข้าแอลพีจีของบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลล์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 ออกไปก่อน เนื่องจากต้องรอความชัดเจนการคำนวณค่าเช่าคลังแอลพีจีที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างจัดทำระเบียบการประมูลนำเข้าแอลพีจี คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน อย่างไรก็ตามปัจจุบันการนำเข้าแอลพีจีเสรียังอยู่ในขั้นตอนโรดแมประยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งการเปิดประมูลผู้นำเข้าแอลพีจีจะอยู่ในโรดแมปประยะที่ 4 ซึ่งที่ผ่านมากรมได้อนุญาตให้ทางบริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ออยล์ จำกัด นำเข้าแอลพีจีล๊อตแรก 2 พันตัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เป็นการทดลองให้ผู้ประกอบการนำเข้าแอลพีจีเสรีตามนโยบายของกระทรวงพลังงานเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ทางพีเอพี แจ้งว่าไม่สามารถนำเข้าแอลพีจี 2 พันตันตามกำหนด ซึ่งจะต้องมีมาตรการลงโทษด้วยการปรับ ตักเตือน และยกเลิกโควตาไปก่อน

ขณะเดียวกันทางบริษัทสยามแก๊สฯ ขออนุมัตินำเข้าล็อตใหญ่ 4.4 หมื่นตันต่อเดือน เทียบเท่ากับ ปตท. นำเข้า ซึ่งในเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ปริมาณนำเข้าเพียง 3-2 หมื่นตันเท่านั้น หากทางสยามแก๊สนำเข้ามาก อาจเกิดภาวะล้นตลาด ดังนั้นจำเป็นต้องรอการจัดสรรโควตานำเข้าแอลพีจี เพื่อให้เพียงพอไม่ใช่นำเข้ามาแล้วมีปริมาณเหลือจนต้องส่งออก และต้องรอให้ระเบียบต่างๆ มีความชัดเจนก่อน หากกรมอนุมัตินำเข้าล็อตใหญ่ และเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน อาจส่งผลกระทบต่อภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงในประเทศได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559