เงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือนก.พ.คงที่ กดดันเป้าหมาย2%ของบีโอเจ

30 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
เงินเฟ้อของญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ไม่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ยังคงสร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางญี่ปุ่นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อดึงเงินเฟ้อขึ้นให้ได้ถึงเป้าหมาย
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคหลักประจำเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ โดยดัชนีดังกล่าว ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดแต่รวมราคาพลังงาน เปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับใกล้เคียง 0% มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ขณะเดียวกัน เมื่อไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 0.8% จากปีก่อน

ข้อมูลล่าสุดตอกย้ำความคิดเห็นของนักลงทุนในตลาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะต้องปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อ พร้อมกับเลื่อนกำหนดเวลาในการดึงเงินเฟ้อขึ้นถึง 2% ตามเป้าหมายออกไป ในการประเมินตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสในเดือนเมษายน

"เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะไม่สูงขึ้นเป้าหมายของบีโอเจไปอีก 2-3 ปี บีโอเจกำลังตกอยู่ในวังวนซึ่งเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องให้ผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน แม้ว่าจะมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเหลืออยู่เพียงไม่มาก" นายโคยะ มิยามาอะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตีส์ กล่าว

ราคาพลังงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาพลังงานที่ลดลงถึง 10.9% ลดทอนผลของราคาสินค้าบางประเภทที่มีการปรับขึ้นเล็กน้อย เช่น อาหารแปรรูป ราคาโรงแรม และราคาโทรทัศน์ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนที่อ่อนแอส่งผลให้บางบริษัทชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือบางรายถึงขั้นลดราคาลงเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า ท่ามกลางภาวะค่าแรงที่แทบจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น

หากการแข่งขันลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกระจายเป็นวงกว้างขึ้น จะเป็นงานหนักสำหรับบีโอเจที่พยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่าย บีโอเจสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกเมื่อปลายเดือนมกราคมด้วยการประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อพยุงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่อ่อนแอและความผันผวนของตลาดการเงินโลก

อย่างไรก็ดี มาตรการของบีโอเจไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็อ่อนแอลงหลังจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากความต้องการที่อ่อนแอจากตลาดเกิดใหม่

นายยาสุนาริ อูเอโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดการเงินของมิซูโฮะ ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบและทรัพยากรอื่นๆ ที่ลดลง ประกอบกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น น่าจะกดดันราคาผู้บริโภคลงอีก โดยคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคหลักน่าจะลดลงสู่ระดับติดลบในเดือนมีนาคม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับลดการประเมินสภาวะเศรษฐกิจลงในเดือนมีนาคม เป็นปรับลดครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยอ้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ การปรับลดการประเมินเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่วางแผนไว้ในเดือนเมษายนปีหน้าหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559