ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

05 ส.ค. 2562 | 04:43 น.

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย หลังอุปทานในตะวันออกกลางปรับลดลง แต่ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า

 

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (5 – 9 .. 62) 

 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันโลกที่อาจปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ รวมทั้งกำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องของอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ตลอดจนลิเบียที่เกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบการขนส่งน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน อาจกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นไม่มากนัก  

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 

ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซในตะวันออกกลางยังคงสร้างความกังวลต่อตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่อาจปรับตัวลดลงจากเหตุความไม่สงบที่ยังคุกรุ่น ทั้งเหตุการณ์การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน การบุกยึดเรือน้ำมันที่วิ่งผ่านบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้ออกมาร้องขอให้เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ มาช่วยดูแลความปลอดภัยให้เรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางผ่านช่องแคบดังกล่าว และร่วมปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันการคุกคามจากอิหร่าน

 

อุปทานน้ำมันดิบในอิหร่านยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้น โดยเดือน มิ.ย. 62 จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่จากอิหร่านได้ปรับลดการนำเข้าลงเกือบร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังสหรัฐฯ ยุติการผ่อนปรนการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 62 ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 450,000 บาร์เรลต่อวัน 

 

อุปทานน้ำมันดิบในลิเบียปรับตัวลดลง หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศหยุดดำเนินการผลิตฉุกเฉินในแหล่งน้ำมันดิบ Sharara เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 62 หลังเกิดปัญหาขัดข้องที่วาล์วของระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังคลังน้ำมัน Zawiya โดยแหล่ง Sharara เป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบีย มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 290,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ แหล่ง Sharara ได้หยุดผลิตน้ำมันดิบ 2 วัน เนื่องจากเกิดปัญหาขัดข้องที่ระบบวาล์วใกล้กับคลัง Hamada และ Zawiya

 

ตลาดได้รับปัจจัยหนุน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงราวร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.00 – 2.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 51 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น หลังแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหลังจากหยุดดำเนินการผลิตไปชั่วคราวจากผลกระทบของพายุเฮอริเคนแบร์รี โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน  

 

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 62 ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน ก.ค. 62 และดุลการค้าจีน เดือน ก.ค. 62  

 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ..– 2 .. 62)

 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาถูกกดดันจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่อัตราร้อยละ 10 ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ก.ย. 62 อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ถึง 2.25 ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น เช่น น้ำมันดิบ เป็นต้น ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 62 ปรับลด 8.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์ นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศหยุดดำเนินการแหล่งน้ำมันดิบ Sharara เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 62 หลังเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิค 

ที่มา : บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2562