ธปท.หั่นเป้าส่งออกติดลบ2% คาดฉุดจีดีพีทั้งปีเหลือ 3.1% ยันมีเครื่องมือสกัด‘บาทแข็ง’

30 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
บอร์ดกนง. หั่นเป้าส่งออกปี59 ติดลบ 2% ฉุดจีดีพีทั้งปีเหลือ 3.1% ยันมีเครื่องมือพร้อมดูแลค่าเงินกรณี "เงินบาทแข็ง"ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-หลังมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อปี

[caption id="attachment_41139" align="aligncenter" width="700"] ประมาณการ GDP  ปี 2559 ประมาณการ GDP ปี 2559[/caption]

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กนง.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยมีผลทันที โดยประเมินแม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่เห็นว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันผ่อนปรนอยู่แล้วจึงควรรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายและจะติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิดโดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการตัดสินนโยบายดังกล่าวนั้น มาจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนบางกลุ่มธุรกิจ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณอ่อนแรง หลังหมดผลชั่วคราวจากมาตรการช็อปเพื่อชาติก่อนปีใหม่ หรือการเร่งซื้อรถยนต์ปลายปีก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีของกรมสรรพสามิต

ขณะที่ภาคส่งออกยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินในครั้งก่อน ประกอบกับต้องเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกันส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนคล้ายและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบางช่วงทำให้เงินบาทแข็งค่าไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักผลของภาษีสรรพสามิตยาสูบและรถยนต์มีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนแรงสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่แผ่วลง ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจึงโน้มไปด้านลบเพิ่มขึ้น สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield)

นอกจากนี้บอร์ด กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปีเหลือ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% โดยประมาณการจีดีพีที่ปรับลดลงตามการส่งออกสินค้าที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกภาคบริการที่เพิ่มขึ้นช่วยชดเชยได้เพียงบางส่วน โดยมองการส่งออกทั้งปีติดลบ 2% จากเดิมอยู่ที่ 0.0% ถัดไปในปี 2560 จีดีพีขยับเป็น 3.3% ส่งออกจะขยายได้ 0.1%

"มองไประยะข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจปรับทิศอาจทำให้มีความเสี่ยง บอร์ดกนง.มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากตลาดโลกที่ผันผวน หากเงินบาทแข็งค่าไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็มีเครื่องมือทางการเงินพร้อมเข้าดูแลอยู่แล้ว ส่วนโอกาสที่จีดีพีทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่า 3% นั้นยังเร็วไปที่จะบอกอาจต้องรอดูครั้งหน้าแต่ที่ผ่านมาจีดีพีปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่สิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.8% "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559