"มิตซูบิชิ"ทุ่มสรรพกำลังดันไทยฐานผลิตสมัยใหม่

06 ส.ค. 2562 | 08:30 น.

อาณาจักรการผลิตของ “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” ที่จังหวัดชลบุรี กำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยเงินลงทุนอีกกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการดำเนินงานตามวิศวกรรมอุตสาหการยุคใหม่ บนต้นทุนที่ตํ่าลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศูนย์การผลิตอำเภอแหลมฉบัง ที่ประกอบด้วยโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องยนต์ 1 แห่ง ในอำเภอศรีราชา โดยปี 2561 ผลิตรถยนต์รวม 4.4 แสนคัน เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออก ก้าวใหม่ของอาณาจักรแห่งนี้และธุรกิจของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร “ฐานยานยนต์” ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานคณะกรรมการ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น

"มิตซูบิชิ"ทุ่มสรรพกำลังดันไทยฐานผลิตสมัยใหม่

   โอซามุ มาสุโกะ

- ภารกิจมาเยือนไทยครั้งนี้

สำหรับ“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส”แล้ว ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญมาก และฐานการผลิตที่อำเภอแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกนอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันผลิตรถ 4 รุ่นคือ ไทรทัน,ปาเจโร สปอร์ต, มิราจ และแอททราจ ล่าสุดเพิ่งส่งออกครบ 4 ล้านคัน นับตั้งแต่ส่งออก แลนเซอร์ แชมป์ ไปประเทศแคนาดาเป็นครั้งแรกในปี 2531 ซึ่งรถคันที่ 4 ล้านคือ มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่เตรียมส่งไปยุโรป

“เราขอขอบคุณรัฐบาลไทย พันธมิตร ดีลเลอร์ ลูกค้า และหวังว่ามิตซูบิชิ มอเตอร์ส จะมีส่วนร่วมในการ ผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโต ผ่านการผลิตและส่งออกในอนาคต ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับฐานการผลิตในไทยให้สูงขึ้น เราเตรียมลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงงานที่แหลมฉบัง หลังจากไม่เคยทำเลยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา”

"มิตซูบิชิ"ทุ่มสรรพกำลังดันไทยฐานผลิตสมัยใหม่ "มิตซูบิชิ"ทุ่มสรรพกำลังดันไทยฐานผลิตสมัยใหม่

- ลงทุน7,000ล้านปรับปรุงรง.แหลมฉบัง

ตามปกติโรงงานที่อายุ 20 ปีขึ้นไปจะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นบ้าง และเรามุ่งหวังเห็นโรงงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีคุณภาพหรือได้การยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการวางแผนและมองการล่วงหน้าไปอีก 30- 40 ปี

ดังนั้นบริษัทมีแผนลงทุนรวม 25,000 ล้านเยน (ประมาณ 7,000 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้โรงงานพร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการสร้างโรงงานทำสีใหม่มูลค่า 12,000 ล้านเยน ที่ดำเนินการได้ทันที และอีก 13,000 ล้านเยนเป็นการปรับปรุงสายการผลิตเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น

“การสร้างโรงงานทำสีใหม่ ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้เพิ่มขึ้นตามที่เราต้องการ ดังนั้นจึงต้องลงทุนในการปรับโรงงานผลิตเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น นำระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน ซึ่งรอสรุปรายละเอียดขั้นสุดท้ายภายในเดือนกันยายนนี้”

- พร้อมผลิตรถปลั๊ก-อินไฮบริด

การลงทุนครั้งใหม่นี้ ยังเป็นการรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งเราเริ่มมองไปที่รถปลั๊ก-อินไฮบริด ก่อน จากนั้นถึงจะเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% (อีวี)

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เปิดตัว เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี (ปลั๊ก-อินไฮบริด) ในประเทศอินโดนีเซียในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่เป็นรูปแบบการนำเข้าทั้งคัน สำหรับประเทศไทยมีแผนขึ้นไลน์ประกอบ “เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี” (คาดว่าจะเป็นเจเนอเรชันใหม่) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

"มิตซูบิชิ"ทุ่มสรรพกำลังดันไทยฐานผลิตสมัยใหม่

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ยึด 5 เสาหลักในการดำเนินธุรกิจในไทยคือ คือ 1. การจ้างงาน 2.การพัฒนาบุคลากร 3.การลงทุน 4.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 5.การส่งออก และยังเพิ่มอีก 2 เสาหลัก คือ ภารกิจตอบแทนสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในการผลิตรถปลั๊ก-อินไฮบริด และได้รับการอนุมัติตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนี้จะเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบแบบน็อกดาวน์ สามารถขึ้นไลน์การผลิตได้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีหน้า ด้วยกำลังการผลิต 3,000 คันต่อปี เพื่อรองรับตลาดในประเทศเท่านั้น

- ศก.ซบแต่ยังมั่นใจไทยแลนด์

เศรษฐกิจจะมีวงจรหรือระลอกคลื่น ทั้งช่วงเศรษฐกิจดีและไม่ดี ซึ่งเราเตรียมการวางแผนล่วงหน้าสำหรับสถานการณ์แบบนี้เอาไว้แล้ว

แม้เศรษฐกิจโลก ตลาดโลกไม่ดีอย่างที่คิดไว้ เห็นได้จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร  (Brexit) แต่ท่ามกลางปัจจัยลบเหล่านี้การดำเนินงานของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และบทบาทของเราในอาเซียนยังมีทิศทางที่ดีอยู่มาก

“ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ส่วนเวียดนามเศรษฐกิจก็ดีมากๆซึ่งเราจะทุ่มสรรพกำลังในอาเซียนให้มากกว่านี้”

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ต้องการนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ ผ่านสินค้าที่ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศ พร้อมบริการหลังการขายเป็นเลิศ เรายังคงทุ่มเทเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนและประเทศ ไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเราต่อไป 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,493 วันที่ 4 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562