เปิดรายละเอียด ก.ล.ต.รื้อพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

30 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จัดระเบียบสังคมตลาดทุน ประกาศใช้มาก็เป็นเวลา 24 ปี ล่าสุดหน่วยงานกำกับตลาดทุนอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มองว่าคงถึงคราวที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น หรือเฮียริ่ง เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

เหตุผลที่ ก.ล.ต.กล่าวอ้างการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลท. คือ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯตามความคาดหวังและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทย โดยเปิดรับความคิดเห็นถึงวันที่ 21 เมษายน ศกนี้

สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายตามที่ ก.ล.ต.ระบุในเอกสารรับฟังความเห็นมี 3 ประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก ให้อำนาจคณะกรรมการหรือบอร์ด ก.ล.ต. สามารถกำหนดความคาดหวังและหลักเกณฑ์ให้ ตลท.ปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษในกรณีฝ่าฝืน โดยความคาดหวังในการเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บอร์ด ก.ล.ต.ต้องการ คือ มีแหล่งเงินทุน บุคลากร และระบบงานที่เพียงพอ สำหรับรองรับการประกอบกิจการ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์

มีระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และระบบบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอซื้อเสนอขายและข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อสาธารณชนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม มีระบบการกำกับตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม มีระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์

มีหลักเกณฑ์การรับสมาชิกที่เป็นธรรม ชัดเจน แน่นอน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสถานภาพของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก มีหลักเกณฑ์ที่สมาชิกต้องปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการกำกับดูแลและลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การรับจดทะเบียนหลักทรัพย์และเพิกถอนหลักทรัพย์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึง คุณภาพของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญ
มีมาตรการกำกับดูแลด้านการเปิดเผยข้อมูลและธรรมาภิบาลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียน มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือเกิดจากการใช้บริการที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีผลหรืออาจมีผลต่อภารกิจหรือความน่าเชื่อถือของการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้หาก ตลท.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ บอร์ด ก.ล.ต.มีอำนาจกำหนดมาตรการลงโทษทางปกครอง เช่น ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ปรับทางปกครอง และจำกัดการประกอบการ เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขในประเด็นการกำกับตลาดหลักทรัพย์ด้าน governance โดยเสนอให้ปรับปรุงที่มาของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ จากเดิมที่ได้รับการคัดเลือกจากบอร์ด ก.ล.ต. 5 คน และโบรกเกอร์ 5 คน เปลี่ยนเป็น ตัวแทนที่ ก.ล.ต แต่งตั้งไม่เกิน 2 คน ตัวแทนจากโบรกเกอร์ไม่เกิน 2 คน ตัวแทนสถาบันหรือสมาคมที่คณะกรรมการก.ล.ต. ยอมรับอีกไม่เกิน 4 คน

ทั้งนี้ ตัวแทนสถาบันหรือสมาคมที่บอร์ดก.ล.ต.ยอมรับ อาจประกอบด้วย สถาบันหรือสมาคมที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนหรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันหรือสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้และพิทักษ์สิทธิผู้ลงทุน หรือการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกรรมการ

นอกจากนี้ให้เพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี จากเดิม 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ เพื่อให้การกำหนดนโยบายและการติดตามการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์มีความต่อเนื่องมากขึ้น

ในเอกสารเฮียริ่ง ก.ล.ต.ระบุถึงเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไขในประเด็นนี้ว่า เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นต่อการกำหนดนโยบายของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้สะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายขึ้น และเพื่อให้การกำหนดนโยบายและการติดตามการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความต่อเนื่องมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 ย้ายอำนาจในการเปิดให้โบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ จากตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งเป็นโอเปอร์เรเตอร์ มาอยู่ที่ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับ โดยห้ามไม่ให้โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการกระทำที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

ต่อท่าทีของผู้ที่เกี่ยวข้อง "วรวรรณ ธาราภูมิ" ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บอกว่าสนับสนุนต่อการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ เพิ่มความโปร่งใส ขณะที่มองว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้วแต่เขียนกฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้น

ในส่วนการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 คน เหลือ 8 คนและปรับลดสัดส่วนจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ บริษัทหลักทรัพย์ เหลืออย่างละ 2 ที่นั่งนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของตลาดทุน มีส่วนร่วมมากขึ้น และน่าจะเป็นการลดข้อครหาการผูกขาด เพราะที่ผ่านมา ที่นั่งในคณะกรรมการบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมาจากบริษัทหลักทรัพย์ 5 ที่นั่ง และมาจากสำนักงาน ก.ล.ต. 5 ที่นั่ง อาจจะมีข้อครหาว่าโบรกเกอร์ที่มีจำนวนที่นั่งในคณะกรรมการบริหารจำนวนมาก อาจกำหนดทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ฯได้

ส่วน "เกศรา มัญชุศรี" กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหลายเรื่องก็ดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.ใหม่แก้ไขไว้อยู่แล้ว และมองว่าการแก้กฎหมายในครั้งนี้จะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมด คือ รายละเอียดการทำเฮียริ่งเพื่อแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯในส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ และปฏิกิริยาผู้ที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นประเด็นฮอตที่ต้องติดตาม เพราะหากยกเครื่องได้หมดตามที่ ก.ล.ต.ทำเฮียริ่ง ถือเป็นการพลิกโฉมตลาดหุ้นอย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559