ชี้สินเชื่อเอสเอ็มอีQ2ยังเอื่อย! ลูกค้าชะลอกู้เงินเหตุยอดขายไม่ฟื้น/หวังแรงส่งโครงการรัฐ

29 มี.ค. 2559 | 09:30 น.
แบงก์ประเมินภาพสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 2 ยังเอื่อย! เหตุเศรษฐกิจไม่ฟื้น-ยอดขายลูกค้าปลุกไม่ขึ้น หวังโครงการภาครัฐดึงความต้องการสินเชื่อ พร้อมปรับแผนธุรกิจรับมือ ด้าน "กสิกรไทย" รับอาจเห็นหลุดเป้า 6% หลังกลุ่มเกษตร/เหล็กยังชะลอ ลั่นอุ้มลูกค้ากำลังชำระถดถอยกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วน "กรุงไทย" หันเจาะกลุ่มซัพพลายเชน-โครงการก่อสร้าง หลัง 2 เดือนสินเชื่อขยายตัวแค่ 3-4% จากเป้า 8-9% ฟาก "ทีเอ็มบี" ชี้ ครึ่งปีแรกธุรกิจยังเหนื่อย รอลุ้นครึ่งปีหลัง- เตรียมออกโปรแกรมลดขั้นตอนอนุมัติ

[caption id="attachment_40939" align="aligncenter" width="366"] ปรีดี ดาวฉาย  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ปรีดี ดาวฉาย
กรรมการผู้จัดการ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มสินเชื่อไตรมาสที่ 2 ธนาคารประเมินว่าความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเริ่มเห็นทยอยการลงทุนออกมา ทั้งนี้ หากโครงการออกมาธนาคารพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน เช่น โครงการรถไฟฟ้าระบบคมนาคม เป็นต้น ภายหลังจากไตรมาสแรกจะเห็นว่ามีโครงการขนาดใหญ่ออกมาเช่นเดียวกัน เช่น โครงการด้านสื่อสาร หรือกลุ่มบริโภค นับเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหญ่และสถาบันการเงินเข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างมากทำให้สินเชื่อยังพอขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจปัจจุบันจะเห็นว่ามีปัจจัยเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่องเช่น การส่งออกที่หดตัวอยู่ และปัญหาภัยแล้งที่เข้ามากดดันต่อภาคเกษตร แต่จะมีเรื่องการท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยทดแทน จึงต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่โดยรวมธนาคารยังคงเป้าการเติบโตทั้งปีอยู่ที่ระดับ 5-7% เนื่องจากเป็นเป้าที่ธนาคารตั้งไว้ไม่สูงมาก โดยยังใช้อิงกับอัตราการขยายตัวจีดีพีประมาณ 1.5 เท่า ซึ่งการเติบโตยังคงมาจาก 3 กลุ่มหลัก ทั้งรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่อาจจะเห็นกลุ่มรายใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีในไตรมาสแรกที่จะหลุดกรอบเป้าหมายให้เห็นบ้าง เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวยังคงเป็นแรงกดดันอยู่ ทำให้ยอดขายของลูกค้ายังไม่กลับมา ส่งผลให้ไม่มีการเบิกใช้วงเงินหรือขอสินเชื่อใหม่เพื่อการลงทุนหรือขยายกิจการ ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าทั้งปีอยู่ที่ 6% โดยเฉลี่ยสินเชื่อจะต้องขยายตัวต่อไตรมาสประมาณ 1.5-2% หรือคิดเป็นการเบิกใช้วงเงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อและเบิกใช้วงเงินอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดค่อนข้างเยอะ ทำให้การเบิกใช้วงเงินน้อยตามฤดูกาล แต่จะเห็นการทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้จะเป็นลูกค้าเก่าสัดส่วนประมาณ 80% และลูกค้าใหม่ 20%

ส่วนแนวโน้มไตรมาสที่ 2 คาดว่าภาพรวมการปล่อยสินเชื่อน่าจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่จะเห็นหลังช่วงเดือนเมษายน โดยกลุ่มดีขึ้นจะเป็นกลุ่มอุปโภคบริโภค เนื่องจากรับอานิสงส์มาตรการภาครัฐที่จะช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยและหมุนเวียนของเงินของสู่ระบบ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีภาคอุปโภคบริโภคให้ดีขึ้น เพราะมียอดขายดีขึ้น ส่วนกลุ่มเกษตรยังคงการชะลอตัวอยู่ อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยวงเงินช่วยเหลือรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าที่ช่วยและกลับมาชำระหนี้ปกติประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 7 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในโปรแกรมพักชำระเงินต้น เช่นเดียวกับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ปล่อยก่อนหน้านี้ ลูกค้าปัจจุบันประมาณ 97% ของวงเงินปล่อยทั้งหมดยังคงชำระปกติ ส่วนที่เหลือ 3% ธนาคารต้องความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น จากเดิมผ่อนเฉพาะเงินต้น ปัจจุบันผ่อนดอกเบี้ยอย่างเดียว เป็นต้น

"ความเสี่ยงที่จะหลุดเป้าก็มี แม้ว่าเราไม่ได้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ แต่ลูกค้าไม่กู้ เพราะไม่มียอดขาย ไม่รู้จะกู้ไปทำอะไร และศักยภาพลูกค้าลดลงด้วย จะเห็นว่ายอดอนุมัติสินเชื่อลูกค้ากลุ่มที่มียอดขายต่ำกว่า 50 ล้านบาทปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 80% ปัจจุบันเหลือสัดส่วนเพียง 70% ส่วนลูกค้ายอดขาย 50-400 ล้านบาท ยอดอนุมัติอยู่ที่ประมาณ 80-90% ส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 2.6% เป็น 3% เพราะกลุ่มเกษตรยังไม่ดี สิ่งทอ เหล็กยังชะลอตัว"

นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อ(เอสเอ็มอี 2 เดือนแรกขยายตัวเพียง 3-4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 8-9% ทั้งนี้ ธนาคารอาจจะต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงการควบคุมหนี้เอ็นพีแอลไม่ให้เกินที่ระดับ 2% อาจจะต้องเน้นดูแลการบริหารจัดการลูกค้าที่ค้างชำระ 1-2 วัน ต้องเริ่มติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนลูกค้าใหม่จะเน้นขยายในกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชน โลจิสติกส์ รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการภาครัฐ ขณะที่กลุ่มพืชไร่และภาคเกษตรกำลังซื้อเริ่มถดถอย จึงทำให้ธนาคารอาจจะต้องมีการปรับแผนธุรกิจรองรับสินเชื่อที่ขยายตัวไม่ตามเป้าหมาย

"ยอมรับว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี 2 เดือนขยายตัวต่ำกว่าเป้า หลังจากนี้เราอาจจะต้องมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ เน้นดูแลลูกค้าเดิม ส่วนรายใหม่เน้นกลุ่มซัพพลายเชนและรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก รวมถึงต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะมีเรื่องของค่าเงินผันผวนเข้ามาในปีนี้"

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทยหรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารยังประเมินว่ามีทิศทางที่ขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ส่วนใหญ่ที่เห็นสัญญาเบิกใช้วงเงินอยู่และความต้องการยังมาจากกลุ่มโครงการภาครัฐ รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงการภาครัฐ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอื่นยังไม่โดดเด่นนัก อย่างไรก็ดี ต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าน่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ยังเป็นตัวนำในเรื่องของการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อ

ส่วนการปรับแผนธุรกิจนั้น อาจจะยังเร็วเกินไป เพราะต้องรอดูสถานการณ์ แต่ธนาคารจะมุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีในเรื่องของการทำงานให้ง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุน โดยจะมีการออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการที่รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่เร็วขึ้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและคล่องตัว ส่วนการขยายสินเชื่อธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นมากนัก โดยจะปล่อยให้สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือสภาพตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559