ทีเส็บหารืออีอีซี ชงรัฐหนุนจัดแอร์โชว์ “อู่ตะเภา”

04 ส.ค. 2562 | 06:00 น.

        ทีเส็บ เผยผลศึกษาชี้ไทยพร้อมจัด ‘แอร์โชว์’ โลเคชั่นสนามบินอู่ตะเภาเหมาะสุด เดินหน้าประสานอีอีซี ชงรัฐบาล สนับสนุนงบ พร้อมดึง Farnborough เป็นออร์แกนไนเซอร์


           ทีเส็บหารืออีอีซี ชงรัฐหนุนจัดแอร์โชว์ “อู่ตะเภา”

         สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เผยผลการศึกษาความเป็นไปได้และผลจาก Industry Hearing ระบุศักยภาพประเทศไทยพร้อมจัดงาน ‘แอร์โชว์’ งานแสดงนวัตกรรมอากาศยานระดับโลก สอดคล้องนโยบาย 4.0 โดยการดึงงานใหญ่ระดับโลกมาจัดขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนสร้างโอกาสธุรกิจใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการบิน
         ทีเส็บได้ดำเนินการให้ Farnborough International จากสหราชอาณาจักร เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแอร์โชว์นานาชาติ (Thailand International Airshow feasibility study) และดำเนินการจัดทำ Industry Hearing กับผู้มีส่วนได้เสียของประเทศไทยในอุตสาหกรรมการบินเพื่อศึกษาศักยภาพของประเทศไทยในการจัดงาน Thailand International Airshow ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง–พัทยา ภายในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นิชาภา ยศวีร์
          นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ ทีเส็บ สายงานธุรกิจ กล่าวว่า ทีเส็บได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติประเทศไทยเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยครอบคุลมเนื้อหาในด้านต่างๆ คือ ภาพรวมการจัดงานแอร์โชว์ทั่วโลก ศักยภาพของตลาดในระดับภูมิภาค โครงการอีอีซีของประเทศไทย และโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งผลการศึกษานี้ยังได้กลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแอร์โชว์ รวมทั้งการคาดการณ์ผลทางเศรษฐกิจ


 

             ทีเส็บหารืออีอีซี ชงรัฐหนุนจัดแอร์โชว์ “อู่ตะเภา”   

      จากผลศึกษาเบื้องต้นพบว่ากว่า80%ของการสำรวจและสอบถามมีความสนใจเข้าร่วมงานในไทย โดยคาดว่าจะมีผู้ออกงาน 200 ราย จำนวนผู้ซื้อ 15,000 ราย พื้นที่จัดแสดงในร่ม 9 พันตารางเมตร สาธิตกการบิน 3 ชั่วโมงต่อวัน โชว์เคสเครื่องบินจอดนิ่ง 60 ลำ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้นในงาน 47.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (1,456.42 ล้านบาท) มูลค่าต่อGDP 23.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(728 ล้านบาท)
 
        ในระดับประเทศ ทีเส็บยังได้ดำเนินการจัดทำ Industry Hearing กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกลั่นกรองและประมวลอย่างเป็นระบบถึงศักยภาพและจุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติ รวมถึงการคาดการณ์ผลทางเศรษฐกิจอันจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดงานนี้

         นอกเหนือจากการศึกษาความเป็นไปได้และผลจาก Industry Hearing ทีเส็บยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดงานแอร์โชว์ในหลายๆประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ งาน Farnborough International Airshow ประจำปี 2561 ณ สหราชอาณาจักร และในปี 2562 นี้ ได้เข้าร่วมงาน Bahrain International Airshow ณ ประเทศบาห์เรน และงาน Paris Air Show ณ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาแนวทางการจัดงานขึ้นที่ประเทศไทย

         การวางแผนและเตรียมการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติประจำประเทศไทยนี้ จะเกิดได้รัฐบาลต้องสนับสนุนงบในการจัดงาน ซึ่งในขณะนี้ทาง Farnborough International กำลังศึกษาว่าการจัดในไทยต้องใช้งบลงทุนเท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นการจัด Farnborough International Airshow เวอร์ชั่นเอเชีย  โดยทีเส็บ ได้นำเสนอเรื่องนี้แก่ทางอีอีซี ไปแล้ว  และเหลือการทำ Industry Hearing กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยทุกภาคส่วน อีกครั้ง ก็จะสรุปข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้ทางอีอีซี เป็นผู้เสนอเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน เพราะการจัดแอร์โชว์จะเกิดได้ ต้องได้รับการสนับสนุนงบจากภาครัฐ เพราะเป็นการลงทุนที่สูง
         ทั้งนี้การไทยจัดงานแอร์โชว์ได้ ก็จะถือว่าครอบคลุมงานเทรด ทุกด้านเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะมีทั้งเครื่องบินเชิงพาณิชย์ , เครื่องบินทางทหาร และที่เราจะแตกต่างจากสิงคโปร์ แอร์โชว์ คือ มีในเรื่องของMRO ด้วย ซึ่งการจัดงานสนามบินอู่ตะเภา ถือว่าเหมาะสมที่สุด

    ทีเส็บหารืออีอีซี ชงรัฐหนุนจัดแอร์โชว์ “อู่ตะเภา”

            อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมหลักภายใต้เป้าหมายของรัฐบาลไทย ในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นมหานครการบิน คือทั้งเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค และศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานและโลจิสติกส์แห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาในเขตอีอีซี

        ทั้งนี้ในปี 2561 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีเที่ยวบินเข้า-ออกรวมกันทั้งสิ้น 634,011 เที่ยวบิน เติบโตร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีจำนวนผู้โดยสาร 103,378,371 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) คาดการณ์ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มีการจราจรทางอากาศสูงที่สุดในโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า

      รัฐบาลจึงกำหนดให้มีการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักแห่งที่สามของประเทศไทย และสอดคล้องกับโครงการอีอีซี ที่มีการเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายการเดินทาง รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ คาดเปิดใช้บริการได้ในปี 2566 และเสริมแกร่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ทั้งในด้านศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก และสามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องการบิน