ก.ล.ต.รอรับไม้ต่อสอบ JAS ส.นักวิเคราะห์ฯชี้ครั้งแรกในโลกเบี้ยวค่าประมูล

29 มี.ค. 2559 | 04:30 น.
2 หน่วยงานตลาดทุน มอร์นิเตอร์ JAS ก.ล.ต.เผยด่านแรกเป็นหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งบี้ข้อมูล การขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ ฟาก ตลท.รับลูกหากพบความผิดปกติพร้อมส่งไม้ต่อให้ ก.ล.ต. ยันสอบหุ้นทุกตัวที่ซื้อขายผิดปกติ พร้อมรอมติผู้ถือหุ้นกรณีJAS ซื้อหุ้นคืน 6 พันล้านบาท ก่อนเทก แอกชันต่อ สมาคมนักวิเคราะห์โอดทำงานลำบากเหตุข้อมูลไม่ครบ เผยต่างชาติจับตา แจสโมบาย เบี้ยวจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ถือเป็นครั้งแรกในโลก กองทุน JASIF ลุ้นระทึก

[caption id="attachment_40902" align="aligncenter" width="700"] ราคาหุ้น JAS ย้อนหลัง 6 เดือน ราคาหุ้น JAS ย้อนหลัง 6 เดือน[/caption]

กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือแจ๊สโมบาย บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)(บมจ.) (JAS) ไม่ชำระค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz สำหรับบทบาทของ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน ขณะที่มีการตั้งคำถามต่อบทบาทของ 2 หน่วยงานโดยเฉพาะการตรวจสอบราคาหุ้น JAS นั้น

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.ล.ต.เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของ ตลท. โดย ตลท.พยายามให้ JAS ชี้แจงข้อมูล ซึ่งถือเป็นขั้นตอนการทำงานปกติ โดยตลท.จะดูเรื่องการเปิดเผยข้อมูล การขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น Front line (ด่านแรก)เรื่องการซื้อขาย มีการแบ่งงานกันจากนั้นจะมีการประสานงานมาทาง ก.ล.ต." นายปริย กล่าว

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและ ผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า การตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นนั้น ตลท.ได้ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ได้ตรวจสอบในกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวจะไม่ได้อยู่แค่หลักทรัพย์ แต่จะรวมถึงการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ร่วมอยู่ด้วย

ทั้งนี้การตรวจสอบความผิดปกติในตลาดทุน ตลท.ได้ทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด โดยหากตลท.พบความผิดปกติ ก็เสนอให้ก.ล.ต.พิจารณา ซึ่งการตรวจสอบขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

สำหรับการรับซื้อหุ้นคืนของJAS วงเงิน 6 พันล้านบาทนั้น ตลท.จะรอดูการเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวอีกครั้งว่า จะกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อหุ้นคืนอย่างไร รวมไปถึงที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีมติอย่างไร ก่อนที่จะดำเนินการอีกครั้ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่ากรณี แจสโมบาย เบี้ยวจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ว่า ทำให้ประเทศเสียหน้าครั้งใหญ่ และความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง กรณีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่ผู้ชนะการประมูลไม่นำเงินมาชำระ ซึ่งจะต้องมีการเร่งชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับต่างประเทศที่กำลังจับตามองเรื่องนี้ ส่วนการจัดประมูลใหม่จะต้องรัดกุมมากขึ้นและต้องแก้ไขกติกาที่มีปัญหา เช่น ผู้ประมูลจะต้องมีศักยภาพแท้จริงที่สามารถนำเงินมาชำระได้

"ยอมรับว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์ทำงานลำบาก เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะ JAS ชี้แจงว่าผลเสียหายต่อ JAS เพียงแค่ยึดเงินประกันการประมูล ขณะที่กสทช.ประเมินมูลค่าเสียหายมากกว่านั้น ทำให้ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ " นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บัวหลวง จำกัด รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ว่า ตามที่มีข่าวแจสโมบาย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของJAS และเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz. ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท มามอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และตามที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ว่า กสทช. อาจพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตเดิมจากสำนักงาน กสทช.

ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวงฯ ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุน ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS เป็นผู้เช่าทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงจากกองทุนและให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายใต้ชื่อ 3BB ที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นว่า TTTBB เป็นคนละนิติบุคคลกันกับ แจสโมบาย TTTBB มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคม

อนึ่งหากสำนักงาน กสทช. พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติใบอนุญาตโทรคมนาคมของ TTTBB แล้วว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน อาจจะมีผลกระทบต่อรายได้ของกองทุน ทั้งนี้เพราะ TTTBB เป็นผู้เช่ารายเดียวของกองทุน ซึ่งกองทุนก็จะพิจารณาหาผู้เช่ารายอื่นต่อไป รายได้ของกองทุนได้แก่รายได้ค่าเช่าที่กองทุนจะได้รับจาก TTTBB จากการให้เช่าทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงให้แก่ TTTBB ทั้งนี้ หากมีเหตุให้ TTTBB ผิดสัญญาเช่า (เช่น TTTBB ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม) อาจจะกระทบต่อรายได้ของกองทุน กองทุนจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิได้รับเบี้ยปรับตามกฎหมาย และกองทุนจะพิจารณาหาผู้เช่ารายอื่นต่อไปตลอดจนดำเนินการอื่นใดที่เหมาะสม

รายงานข่าวจาก บลจ.บัวหลวงฯ ระบุว่า จะคอยติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) หรือผลสรุปจากกรณีดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. ที่เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องดังกล่าวในวันที่ 23 มีนาคม 2559 อย่างใกล้ชิด หากมีผลสรุปที่ชัดเจนประการใด ทาง บลจ. บัวหลวงฯ จะแจ้งผลกระทบต่อกองทุนและแนวทางที่จะดำเนินการให้ทราบต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559