‘เอมิเรตส์’ไขกลยุทธ์ หนุนไทยฮับบินเอเชีย

02 ส.ค. 2562 | 08:20 น.

 

        การเข้ามาปักธงสยายปีกในไทยของสายการบินเอมิเรตส์ นับจากการเปิดเที่ยวบินแรกในเส้นทางกรุงเทพฯ-ดูไบ ตั้งแต่ปี 2533 และกำลังจะครบรอบ 30 ปีในปีหน้า สำหรับการเข้ามารุกเปิดเน็ตเวิร์กในไทยซึ่งวันนี้ไทยจัดว่าเป็นประเทศที่เอมิเรตส์ ใช้เป็นศูนย์กลางการ บิน(ฮับ) ในภูมิภาคนี้ อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายบาเดอร์ แอบบาส รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ ประจำภาคพื้นตะวันออกไกล สายการบินเอมิเรตส์ และนายมูฮัมหมัดซาร์ฮาน ผู้จัดการประจำประเทศ ไทย เมียนมา และกัมพูชา

มูฮัมหมัด ซาร์ฮาน

รูตใหม่กรุงเทพฯ-พนมเปญ

         มูฮัมหมัด ซาร์ฮาน : ตลอดระยะที่เอมิเรตส์ขยายเน็ต เวิร์กเข้าสู่ประเทศไทย เรามีการขยายลงทุนในไทยอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สายการบิน นำเครื่องบินแอร์บัสเอ 380 มาให้บริการ ทั้งยังมีการเปิดห้องรับรองผู้โดยสาร (เลานจ์) ของสายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และที่ผ่านมาสายการบินได้เปิดเส้นทางบินเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ไทยก็จัดว่าเป็นฮับของเอมิเรตส์ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีจุดบินมากที่สุดในเอเชีย

            ปัจจุบันเอมิเรตส์มีเส้นทางบินร่วม 9 เที่ยวบินต่อวัน ใน 4 เส้นทางบินจากไทย ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ดูไบ 5 เที่ยวบินต่อวัน โดย 4 เที่ยวบินเป็นแอร์บัสเอ 380 อีก 1 เที่ยวเป็นโบอิ้ง 777-300ER เส้นทางภูเก็ต-ดูไบ 2 เที่ยวบินต่อวัน ในช่วงวินเทอร์ และ 1 เที่ยวบินต่อวัน ในช่วงซัมเมอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง 1 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเครื่องแอร์บัสเอ 380 และเส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ 1 เที่ยวบินต่อวัน โดยโบอิ้ง 777 ซึ่งเป็นเที่ยวบินล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ในเส้นทางบินหลักระหว่างไทย-ดูไบ เอมิเรตส์มีผู้โดยสารใช้บริการรวมกว่า 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา โดยราว 8 แสนคน เป็นการใช้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-ดูไบ และอีกราว 2 แสนคนใช้บริการในเส้นทางภูเก็ต-ดูไบ

         ไม่เพียงเส้นทางที่ทำการบินโดยเอมิเรตส์เท่านั้น สายการบินยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในการทำการบินรหัสร่วม(โค้ดแชร์) ซึ่งได้ร่วมกันมากว่า 6 ปีแล้ว ก็จะทำให้บางกอกแอร์เวย์ส ขนส่งผู้โดยสารจากเส้นทางบินในประเทศของบางกอกแอร์เวย์ส มาใช้เอมิเรตส์ในการเดินทางต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรป ส่วนเอมิเรตส์ ก็สามารถนำผู้โดยสารของสายการบิน มาใช้บริการบางกอกแอร์เวย์ส ในการบินต่อไปยังจุดบินต่างๆ ในอาเซียนของบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย 

 

‘เอมิเรตส์’ไขกลยุทธ์  หนุนไทยฮับบินเอเชีย

บาเดอร์ แอบบาส,  มูฮัมหมัด ซาร์ฮาน

 

บูมตลาดรับครบรอบ30ปี

         บาเดอร์ แอบบาส : จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินในเอเชีย ทำให้เอมิเรตส์มีความสนใจตลาดในภูมิภาคนี้ มากขึ้นนี่เองจึงทำให้เราเพิ่งจะเปิดจุดบินใหม่จากกรุงเทพฯไปยังพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การขยายเน็ตเวิร์กการบินต่างๆของเรา ไม่ใช่เพียงการบริการผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมเรื่องของการค้าในเมืองนั้นๆด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะมีทั้งนักท่องเที่ยวและกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้โดยสารของเอมิเรตส์ไม่ใช่มีแต่คนตะวันออกกลาง แต่สายการบินยังมีผู้โดยสารชาวยุโรปเป็นผู้โดยสารหลัก ในการใช้บริการเดินทางในเน็ตเวิร์กต่างๆของเอมิเรตส์เพื่อมาไทยและเดินทางต่อจากไทยไปยังจุดบินอื่นๆ อย่าง กัมพูชา ด้วย

        สำหรับภาพรวมรายได้ของเอมิเรตส์สำหรับเส้นทางบินเข้าไทย ในปีที่ผ่านมาถือว่าเติบโตราว 6% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และคนไทยมีการเดินทางและทำธุรกิจนอกประเทศมากขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าผัก อาหาร สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ก็จะได้เรื่องของการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก) ประกอบกับเอมิเรตส์ยังได้ลงนามความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยด้วย

     ส่วนในปีหน้าที่เอมิเรตส์จะครบรอบ 30 ปีสำหรับการดำเนินธุรกิจในไทย สายการบินก็จะเน้นเรื่องของการโปรโมตและการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

บาเดอร์ แอบบาส

 

ดูไบเจ้าภาพเวิล์ดเอ็กซ์โป

        นอกจากนี้ในปี 2563 ดูไบ ก็จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิลด์เอ็กซ์โป ก็จะเป็นผลดีต่อสายการบินเป็นอย่างมาก ซึ่งเอมิเรตส์ทำการบินอยู่มากกว่า 157 เส้นทางใน 85 ประเทศทั่วโลก มีเครื่องบินรวมกว่า 270 ลำ และจะมีการรับมอบเครื่องบินใหม่อีกหลายลำ ที่จะทยอยรับมอบตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อาทิ แอร์บัสเอ380 จำนวน 13 ลำ แอร์บัส 350 จำนวน 40 ลำ

‘เอมิเรตส์’ไขกลยุทธ์  หนุนไทยฮับบินเอเชีย

        ส่วนแผนในการทำตลาดของสายการบิน ไม่เพียงแต่ฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้ว เรายังเน้นเจาะกลุ่มมิลเลียน ทราเวลเลอร์ ทำให้เราจึงมีการพัฒนาโปรดักต์และการให้บริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟรีไว-ไฟ บนเครื่องบิน การให้บริการอาหารบนเครื่องบิน และการพัฒนาบริการให้เป็นไปในลักษณะ One Stop Shop Make booking & Travel เน้นเรื่องของดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการบุ๊กกิ้งเช็กอิน หรือแม้แต่แพ็กเกจที่รวมตั๋วเครื่องบินและโรงแรมจากเอมิเรตส์ ฮอลิเดย์ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ของสายการบิน 

       อีกทั้งในขณะนี้เรายังโปรโมตโครงการ “ดูไบ สต็อปโอเวอร์ วีซ่า” เพื่อผลักดันให้ดูไบเป็นเดสติเนชันด้านการท่องเที่ยว ซึ่งผู้โดยสารที่บินมาดูไบ เพื่อต่อเครื่องไปยังยุโรป ผู้โดยสารที่รอทรานซิต สามารถจองซื้อแพ็กเกจทัวร์เที่ยวดูไบได้กับอาระเบียน แอดเวนเจอร์ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของสายการบิน  สามารถซื้อแพ็กเกจทัวร์ที่ครอบ คลุมและหลากหลาย ซึ่งมีตั้งแต่ 48 ชั่วโมงไปจนถึง 96 ชั่วโมง เพื่อเดินทางเที่ยวดูไบ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องของวีซ่า

        ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจของเอมิเรตส์ที่เกิดขึ้น 

สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2562

‘เอมิเรตส์’ไขกลยุทธ์  หนุนไทยฮับบินเอเชีย