หวั่น Line เร่งตักตวง ชี้คนเริ่มเบื่อหน่าย

29 ก.ค. 2562 | 03:40 น.

นักวิชาการด้านโทรคมนาคม วิเคราะห์การเติบโตธุรกิจของ Line ชี้ประสบความสำเร็จในไทย จนต้องเร่งตักตวงจึงเกิดหลายธุรกิจ เตือนคนเบื่อหน่าย-กระแสตีกลับ

 

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์กับ ฐานเศรษฐกิจ ถึงการประกอบธุรกิจของ Line(ไลน์) ว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็นส่วนๆ เพราะเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียอีกหลายราย Facebook Google Instagram Netflix  ซึ่งเป็นบริการที่มาจากต่างประเทศ แต่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนอะไรเลย แต่ไลน์มีการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย โดยเขาการันตีว่าเป็นบริษัทสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 50% ต่างจากโซเชียลมีเดียรายอื่นที่ถามว่ามีคุณธรรมจริยธรรมจะจดทะเบียนให้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อไม่จดทะเบียนก็ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล และยากต่อการกำกับดูแล

 

ส่วนบริการของไลน์ ส่วนใหญ่ใช้ในลักษณะเป็นตัวแทน ของแต่ละบริการ อย่างเช่นบริการทางการเงิน ไลน์ก็ไปจับมือกับเอกชนที่ให้บริการทางด้านการเงิน ที่ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นไลน์ไฟแนนซ์ เป็นพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ Non bank หรือ E-wallet (ทำกระเป๋าเงิน) รวมถึงการประกอบธุรกิจอื่นๆ จึงเรียกว่าไลน์เป็น ซูเปอร์แอพอย่างเช่น ไลน์แมน ทำเรื่องในการส่งของ ส่งอาหารก็จับมือกับลาล่ามูฟ

หวั่น Line เร่งตักตวง ชี้คนเริ่มเบื่อหน่าย

         นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

ไลน์เป็นเพียงแอพพลิเคชัน แต่ไม่ทำธุรกิจอะไรเป็นของตัวเอง ยุทธศาสตร์ของไลน์อะไรเวิร์คจะทำต่อ อะไรไม่เวิร์คก็จะไม่ทำ เช่นเรื่องบริการซื้อหุ้น ซื้อทองผ่านไลน์ ก็เคยทำแต่เลิกทำ แล้วก็หันไปลองบริการใหม่ๆ ส่วนไลน์แอท ในอดีตราคาถูกคนใช้บริการจำนวนมากก็ขึ้นค่าขึ้นบริการ จนคนก็หนีออกจากไลน์ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางหรือเล็กหนีหายหมด เพราะทำให้ธุรกิจอยู่ไม่ได้

 

นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ไลน์ยังทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรแบบหนักหน่วง เพราะการทำธุรกิจของไลน์ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกประเทศ และต้องไม่ลืมว่าไลน์เกิดที่ประเทศญี่ปุ่น โตที่เกาหลี แต่มาประสบความสำเร็จในประเทศไทย ถ้าเรามองประเทศไทยเป็นตลาดที่ตักตวงได้ก็จะทำ เพราะเขาประสบความสำเร็จที่ไทย

 

“ดังนั้นบริการของไลน์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานของคนไทยด้วย อะไรที่ทำแล้วได้เงินเขาก็ทำ เพราะเขาคือแอพพลิเคชันแชตหลักของประเทศไทย เขาจึงมีอำนาจต่อรอง พอมีอำนาจต่อรองมากภาคธุรกิจเองก็ไม่กล้าที่จะต่อรองกลับ เท่าที่สัมผัสตอนนี้เริ่มมีกระแสความเบื่อหน่ายไลน์ เพราะมีอะไรที่ข้ามขีดและเยอะเกินไป ไลน์เองจึงต้องระวังกระแสตีกลับเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● Line หลอกตุ๋นสื่อจนเปื่อย 'ล่อส่งข่าว'เสร็จศึกขึ้นค่าบริการจนเจ๊ง

● ธุรกิจคว่ำบาตรไลน์ เจอโขกเงินเพิ่ม10เท่า-เลิกใช้หนีซบเฟซบุ๊ก

● ไลน์ยอมถอยปรับยกแผงแพ็กเกจค่าบริการ LINE Official Account

● บี้สอบไลน์’ PwCชี้ญี่ปุ่นคุม-ส่อนอมินีต่างด้าว

●  "ไลน์"แทรกซึม ทุกไลฟ์สไตล์

● ยักษ์ 'ไลน์' ติดบ่วง สุ่มเสี่ยงผิด 'ก.ม.ต่างด้าว'