'กทม.' หน้ามืดตามัว มีใบอนุญาต 15 ปี ให้สัมปทาน 30 ปี

26 ก.ค. 2562 | 11:28 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3491 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

‘กทม.’ หน้ามืดตามัว!

มีใบอนุญาต 15 ปี ให้สัมปทาน 30 ปี

 

                  ดูเหมือนว่าขณะนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กำลังเจอ “ของร้อน” มาตกอยู่ในมือหลายชุด

                  ลำพังปัญหาท่อร้อยสายลงดินวงเงิน 25,000 ล้านบาท ที่มอบให้บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ เป็นผู้ดำเนินการและไปเปิดให้สัมปทานแก่ ทรู อินเตอร์เน็ต เป็นเวลา 30 ปีก็ดูเหมือนอ่วมอรทัย เหมือนใครมาดึงของออกจากปากจนต้องงับลิ้นตัวเอง

                  มาเจอปัญหาโรงกำจัดขยะอีก 2 แห่ง มูลค่า 13,000 ล้านบาท ที่กำลังร้อนฉ่าด่ากันขรมทั้งศาลาว่าการกทม.

                  ปลายสัปดาห์ ผมมีโอกาสเห็นเอกสารชุดหนึ่งที่มีการลำดับเรื่องราวปมปัญหาท่อร้อยสาย 25,000 ล้านบาทอันฉาวโฉ่ ที่บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ บริษัทที่กทม.ถือหุ้นใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นวิสาหกิจลูกได้ขอใบอนุญาตประเภท 3 จากกสทช.มา 15 ปี แต่กลับวางแผนทำสัญญาสัมปทานกับเอกชน 30 ปี ให้ลูกหลานเหลนได้จ่ายค่าโง่แก่เอกชนจากความละโมบของบรรพบุรุษ

                  หนังสือดังกล่าว มีการจัดทำขึ้นเพื่อรายงานผู้ใหญ่ในรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงดีอี และเสนอให้คณะกรรมการกสทช.ให้เห็นภาพของปัญหาการดำเนินการท่อร้อยสายลงดินที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอันมีลักษณะ “ผูกขาดโดยธรรมชาติ” ไม่ควรลงทุนซํ้าซ้อนกันหลายท่อ เหมือนกับสร้างสายไฟฟ้าหลายสาย

                  หนังสือดังกล่าวระบุชัดว่า สิ่งที่ กทม. กำลังเร่งเครื่องดำเนินการจะสร้างปัญหา เพราะเป็นการโอนการผูกขาดของรัฐไปให้แก่เอกชน โดยมีแท็กติกส์การโอน 2 ต่อ ต่อแรกคือ โอนจาก กทม.ไปให้บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ที่เป็นบริษัทลูกที่แสวงหาผลกำไร ต่อที่ 2 คือ โอนจากบริษัทกรุงเทพธนาคมฯไปให้แก่เอกชนหากำไรอีกทอดหนึ่ง

                  และการโอนสิทธิออกไปให้เอกชนที่เป็นคู่สัญญา จะทำให้เอกชนผู้ได้สิทธิผูกขาดและเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งแข่งกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ด้วย จึงเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันของรายอื่นในระยะยาว

 

'กทม.' หน้ามืดตามัว มีใบอนุญาต 15 ปี ให้สัมปทาน 30 ปี

 

                  ผมได้ข่าวมาว่าวันที่ 31 กรกฎาคมนี้แหละ กสทช. จะออกโรงมาชี้ชะตาเรื่องนี้ ผมพามาดูหนังสือฉบับนั้นเขาไล่เลียงเรื่องราวไว้แบบนี้

                  • 6 กันยายน 2560 คณะกรรมการ DE มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2560 ให้สำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินงาน มาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงดินในเขตกรุงเทพมหานคร

                  • 25 กรกฎาคม 2561 บริษัทกรุงเทพ ธนาคมฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 จาก กสทช.อายุ 15 ปี

                  • 11 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการ DE มีมติการให้กรุงเทพมหานคร จะเป็นเจ้าภาพในการทำท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินเพื่อนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนในการดำเนินการดังกล่าว

                  • 20 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการ DE มีมติการประชุมครั้งที่ 5/2561 เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามแนวทางการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ กทม. โดยให้คำนึงถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินงาน ดังนี้

                  1. หาแนวทางการใช้โครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน

                  2. กำหนดราคาค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม ไม่มีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนผู้ใช้บริการ

                  3. กำหนดราคาค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารและการใช้โครงข่ายร่วมกันที่เหมาะสม คำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม

                  • 14 กุมภาพันธ์ 2562 สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เรียนให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ DE) ทราบถึงปัญหาการนำสายสื่อสารลงดินในเขตกรุงเทพมหานครระยะทาง 2,343 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามมติการประชุมคณะกรรมการดีอี ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561

                  • 13 มีนาคม 2562 บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ประกาศเรื่องขอเชิญยื่นข้อเสนอใช้ บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยผู้สนใจให้ไปลงทะเบียน

                  • 25 กุมภาพันธ์ 2562 สหภาพ TOT มีหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ ทบทวน มติคณะกรรมการ DE ครั้งที่ 5/2561 โดยเห็นว่า TOT ควรเป็นผู้ดำเนินการสร้างท่อร้อยสายเอง เนื่องจาก TOT มี หน้าที่ให้บริการโทรคมฯ และมีท่ออยู่แล้ว

 

'กทม.' หน้ามืดตามัว มีใบอนุญาต 15 ปี ให้สัมปทาน 30 ปี

                  • 26 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมหารือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร และมีมติดังนี้                 

                  1. ให้ กทม. จัดทำราคาค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในอัตราต่อ Sub Duct /กิโลเมตร/เดือน ทั้งค่าบำรุงรักษาค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งเงื่อนไขการให้บริการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ต่อไป

                  2. เห็นควรหารือข้อกฎหมายกับสำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงาน กสทช. ในประเด็นบทบาท อำนาจหน้าที่ การดำเนินงานของบริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

                  3. เห็นควรให้สำนักงาน กสทช. ออกกฎระเบียบ หลักเกณฑ์วิธีการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าและการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

                  4. เห็นควรนำข้อเสนอของสมาคมโทรคมนาคมในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาจัดทำแผนแม่บทจัดระเบียบสายสื่อสารต่อไป

                  • 30 เมษายน 2562 กรุงเทพธนาคม ให้ผู้ลงทะเบียนเข้ารับเอกสารแนะนำการจัดทำข้อเสนอ (Instructions to Bidders) เชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request For Proposal : RFP) เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กทม.

                  • 21 พฤษภาคม 2562 กรุงเทพธนาคม กำหนดให้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการขายส่งท่อร้อยสาย
ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอมาเพียงรายเดียว

                  • 24 พฤษภาคม 2562 กรุงเทพธนาคม ประกาศว่า ผู้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้วคือ ทรู อินเตอร์เน็ต และจะมีการเซ็นสัญญาสัมปทาน 30 ปี

                  • 11 มิถุนายน 2562 กทม. ออกประกาศการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ม.39 ของ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้ผู้ประกอบการรื้อสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานออก หากบริเวณใดมีท่อร้อยสายสื่อสารอยู่ ผู้ประกอบการต้องนำสายสื่อสารลงท่อ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย และถูกสั่งให้รื้อถอนได้

                  • 27 มิถุนายน 2562 ผู้ประกอบการ 6 ราย AWN, DTAC, 3BB, UIH, Interlink, ALT ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาทบทวนโครงการท่อร้อยสายสื่อสารของ กทม.

                  • 10 กรกฎาคม 2562 ผู้ประกอบการ 6 รายเดิมยื่นหนังสือถึง กสทช. ขอตรวจสอบการดำเนินการของกรุงเทพธนาคม และขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

                  • 17 กรกฎาคม 2562 ผู้ประกอบการ 6 รายเดิมยื่นหนังสือถึง กสทช. ขอให้พิจารณาดำเนินการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตมิให้กระทำการอันเป็นการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

                  จากที่ร้อยเรียงมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า โครงการเอาสายลงใต้ดินของมหานครกรุงเทพอันศิวิไลซ์ชักมีอะไรในกอไผ่ซ่อนเร้นอยู่เยอะมาก

                  ไม่เช่นนั้นเอกชนไม่ร้องระงม ไม่เช่นนั้น กสทช.คงไม่ออกมาตั้งคำถามว่า โครงการอะไร ไม่มีการกำหนดแม้แต่อัตราค่าบริการที่จะคิดจากผู้ใช้แต่กทม.กล้าลงทุน

                  เรื่องนี้กำลังส่งกลิ่นฉาวโฉ่ และอาจมีใครแกล้งโง่ให้เห็น เพราะการนำทรัพยากรอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มาให้ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งกับผู้ประกอบกิจการรายอื่น ไปดำเนินการหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นเวลาถึง 30 ปี ขณะที่บริษัทตัวเองได้สิทธิในใบอนุญาตแค่ 15 ปี มันมีแต่คนที่หน้ามืด ตามัวเท่านั้นแหละครับที่กล้าทำ...

                  คนปกติเขาไม่กล้ากันดอกครับ...

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● คุ้ยหลักฐาน กทม.ส่อพิรุธท่อร้อยสาย

● สมเกียรติอัด กทม.ให้เอกชนผูกขาดท่อร้อยสาย

● แจงสัมปทานท่อร้อยสาย 2หมื่นล้าน30ปีโปร่งใส

● จี้รื้อสัมปทานทรู’ บิ๊กสื่อสารรุมต้านผูกขาด30ปีท่อร้อยสาย

● เปิดปูมท่อร้อยสาย 2หมื่นล้าน

● ทรูร่อนหนังสือแจงยังไม่ลงนามสัญญาท่อร้อยสายกทม.

● เบื้องหลังกทม.หักดิบ ยึดโครงการท่อร้อยสาย2หมื่นล.

● 6ยักษ์สื่อสารจี้นายกฯ เบรกท่อร้อยสายกทม.2หมื่นล.

● ท่อร้อยสายวุ่น จ่อรื้อสัญญาทรู

● ไขปม ท่อร้อยสาย ให้สิทธิ์เอกชน80%ไม่ผูกขาด

● ใคร...ลุยไฟ ใช้เงิน2.5หมื่นล้าน เพื่อสัมปทานท่อร้อยสาย 30ปี

● บิ๊กกรุงเทพธนาคม โต้ทุกข้อกล่าวหา ท่อร้อยสายสื่อสาร 2 หมื่นล้าน

● กทม.ลักไก่ ท่อร้อยสาย ไร้ราคากลาง

● ท่อร้อยสายใต้ดิน โอนผูกขาด อำนาจรัฐสู่เอกชน

● รสนาชี้ทิ้งทวนท่อร้อยสาย ก่อนหมดวาระผู้ว่าฯกทม.

●  สหภาพแคทฯ ร้องนายก ค้านท่อร้อยสาย

● ‘ทีโอที’ฮึดสู้! ปรับราคาท่อร้อยสาย

● ชำแหละผูกขาด ท่อร้อยสาย 2.5 หมื่นล้าน

● กสทช.สั่งรื้อโครงการท่อร้อยสายกทม.

● จ่อฟันโครงการท่อร้อยสาย ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 50 จัดการแน่!