งานสาธารณสุข ไม่ได้มีแค่ ‘กัญชา’

24 ก.ค. 2562 | 04:50 น.

ติดตามข่าวสารของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยามนี้ ต้องบอกว่าต่อให้มีประเด็นข่าวดีแค่ไหนก็ไปแพ้ข่าวกัญชา”  ของท่าน รมว.อนุทิน ชาญวีรกูล ต้องยอมรับว่าข่าวเขาแรงจริง กลบทุกประเด็นในกระทรวงคุณหมอแห่งนี้หมดเกลี้ยง

ถามว่าทั้งกระทรวงมีแต่ข่าวกัญชานี้หรือ ก็คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะจากการส่องอ่านไลน์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ตัวผมเองก็ขออาศัยอยู่ในกรุ๊ปส่งข่าวของพีอาร์กรมต่างๆ มายังนักข่าวกระทรวง ก็พบว่ามีข่าวสาร สถานการณ์ของโรคภัยไข้เจ็บ การติดตาม เฝ้าระวัง แก้ปัญหา อัพเดตทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีขาดตกบกพร่อง เพียงแต่ว่าผู้ที่ปรากฏชื่ออยู่ในข่าวเป็นข้าราชการประจำ ปลัด-รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมฯ มิใช่ข้าราชการการเมืองอย่างเช่น รมว.อนุทิน หรือ รมช.สาธิต ปิตุเตชะ

ที่เริ่มกล่าวมาอย่างนี้เพราะกลัวเหลือเกินว่าสังคมจะเข้าใจผิดว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับนโยบายกัญชาเสรี แต่ก็เข้าใจในความด่วน เพราะจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ที่ระบุในตอนท้ายของข้อ 4 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเขียนว่า

“....รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยกำหนดกลไกการดำเนินงานที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด

 

งานสาธารณสุข ไม่ได้มีแค่ ‘กัญชา’

รมช.สาธิต ปิตุเตชะ,  รมว.อนุทิน ชาญวีรกูล

ผมมีโอกาสสนทนากับคุณหมอผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งก็มีความกังวลในจุดนี้ที่กังวลว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเทนํ้าหนักให้กับกัญชาอย่างเดียวจนฝ่ายนโยบายไม่ให้ความสนใจกับเรื่องอื่นๆ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะความที่เป็นนโยบายเร่งด่วน จึงต้องให้ความสำคัญมากหน่อย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ากระทรวงสาธารณสุขเองยังมีภารกิจใหญ่หลวงที่เขียนไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่ถูกกลั่นกรองมาแล้วหลายชั้นว่ามีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน และอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เรื่องใหญ่สุดคือการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน : สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพเป็นการผ่าตัดโครงสร้างระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยประกอบด้วย 3 ระบบหลัก คือระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของประชากรที่ระบบคุ้มครองอยู่ และสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมลํ้า

เพราะปัจจุบันมีลักษณะแยกส่วน ขาดความหลากหลายมีปัญหาความเหลื่อมลํ้าระหว่างกองทุน อีกทั้งกลไกการบันทึกและใช้ข้อมูลในภาพรวมทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีความอ่อนแอ ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างไม่ทั่วถึง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อคุณภาพบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ยังมี เรื่อง การปฏิรูประบบการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยคุกคามสุขภาพ การปฏิรูประบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ และการปฏิรูปอื่นๆ อีกมากมายที่คาบเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข

จึงขอใช้พื้นที่น้อยนิดตรงนี้ฝากข้อกังวลเล็กๆ นี้ ถึงคุณหมอเสี่ยหนูและคุณหมอตี๋ ได้ดูสัดส่วนงานกระทรวงในส่วนนี้ให้ด้วยนะครับ

อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3490 วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

งานสาธารณสุข ไม่ได้มีแค่ ‘กัญชา’