อินเดียทำได้แล้ว ส่ง “จันทรายาน-2”สำรวจดวงจันทร์

23 ก.ค. 2562 | 00:34 น.

ในที่สุด อินเดียก็สามารถส่งยานอวกาศ จันทรายาน 2” (Chandrayaan-2) ขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วตามกำหนดการ คือวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 14.43 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ศูนย์วิจัยอวกาศสาธิส ตะวัน (Satish Dhawan Space Center) เมืองศรีหะริโกตา ซึ่งเป็นเกาะนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐอันตรประเทศ

อินเดียทำได้แล้ว ส่ง “จันทรายาน-2”สำรวจดวงจันทร์

ความมุ่งหวังในการปล่อยจันทรายาน-2 ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้ จุดหมายปลายทางคือการนำยานลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อโครงการสำรวจ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ อินเดียก็จะกลายเป็นประเทศที่ 4 จากโลกที่นำยานอวกาศแตะพื้นดวงจันทร์หลังจากที่รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน สามารถทำได้แล้วก่อนหน้านี้

 

เกือบ 11 ปีที่แล้ว อินเดียส่งจันทรายาน-1 ขึ้นสู่วงโคจรเป็นผลสำเร็จ แต่ปฏิบัติการครั้งนั้นเป็นเพียงการโคจรรอบๆดวงจันทร์เพื่อสำรวจแหล่งน้ำ ต่อมาในปี 2562 จึงมีโครงการ จันทรายาน-2’ ซึ่งเดิมมีกำหนดจะปล่อยยานตั้งแต่เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เกิดมีการตรวจพบการรั่วไหลของเชื้อเพลิงก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาปล่อยยานอวกาศ 56 นาที จึงต้องเลื่อนกำหนดการออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อินเดียทำได้แล้ว ส่ง “จันทรายาน-2”สำรวจดวงจันทร์

สื่อท้องถิ่นระบุว่า ยานอวกาศลำนี้เป็นผลงานการออกแบบและผลิตในประเทศอินเดียเกือบจะทั้งหมด นอกจากตัวยานอวกาศหลักแล้วยังประกอบด้วยยานขนาดเล็กอีก 3 ส่วนที่จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป คือยานโคจร (orbiter) น้ำหนัก 2.4 ตัน จะถูกปล่อยให้โคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลา 1 ปี เพื่อถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ สำรวจหาแหล่งน้ำ และศึกษาชั้นบรรยากาศ  ส่วนยานเล็ก Lander จะเป็นตัวนำพาหนะสำรวจ (Rover) ที่มีชื่อว่า ปราชญ์ยาน ที่แปลว่า ผู้มีปัญญาความรู้ ในภาษาสันสกฤต ไปลงพื้นที่สำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ทางด้านขั้วใต้  นักวิทยาศาสตร์จะควบคุมการเคลื่อนไหวและทิศทางรวมทั้งการทำงานของปราชญ์ยานผ่านระบบรีโมทคอนโทรล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาสำรวจบนผิวดวงจันทร์ประมาณ 1 วันดวงจันทร์ ซึ่งเทียบเท่า 14 วันบนโลก จะมีการเก็บหินและดินบนดวงจันทร์กลับมาวิจัยด้วย  


 

Rover หรือ ปราชญ์ยาน จะเป็นส่วนที่ลงแตะพื้นดวงจันทร์เพื่อการสำรวจภาคพื้นดิน

จันทรายาน-2 นั้นได้ชื่อว่าเป็นยานอวกาศโลว์คอสต์ ที่ใช้ต้นทุนสร้างและเตรียมการประมาณ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตยานอวกาศในประเทศอื่นๆเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างโครงการ อพอลโล ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งนีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศ ไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ใช้งบไปกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

 

ทั้งนี้ จันทรายาน-2 เป็นยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศประจำการบนยาน แต่ใช้การควบคุมทางไกลจากพื้นผิวโลก นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศให้คำมั่นว่า ภายในปี 2565 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า อินเดียจะส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ประจำการขึ้นสู่วงโคจรให้ได้