นโยบายรัฐบาลเลือกตั้ง บนความเสี่ยงฐานะการคลัง

21 ก.ค. 2562 | 02:00 น.

บรรยากาศในหลายๆกระทรวงช่วงนี้ คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีพิธี การต้อนรับรัฐมนตรี ใหม่ ที่ต่างตบเท้าเข้าทำงาน ใครจะถือฤกษ์ ถือยามกันวันไหน เวลาไหน หรือกระทรวงไหนรัฐมนตรีมากบ้าง น้อยบ้างก็ว่ากันไป ขณะที่ข้าราชการเองก็ต่างเตรียมสรุปงานในมือ เพื่อให้ท่านๆ ได้พิจารณาอนุมัติ และเชื่อว่า หลายๆ กระทรวงจะมีการออกมาตรการต่างๆ ตามที่แต่ ละพรรคการเมืองได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงเดินสายหาเสียงเลือกตั้ง   

แต่ก่อนที่ท่านรัฐมนตรี และบรรดานักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายจะแปลงนโยบายหาเสียงออกมาเป็นภาคปฏิบัติ ผมอยากให้ท่านดูข้อมูลชุดหนึ่งที่เรียกว่า “กรอบความยั่งยืนทางการคลัง” ด้วยครับว่าฐานะการคลังของประเทศเป็นอย่างไร

สำหรับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กล่าวถึงนี้ เป็นชุดข้อมูลที่ 4 เสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ อันประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนว ทางในการดำเนินนโยบายการคลัง โดยคำนึงถึงกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ

กรอบความยั่งยืนทางการคลังนี้มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว ประกอบด้วยตัวชี้วัดและเป้าหมาย (60-15-0-20-35-10-5) กล่าวคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกิน 60% ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% การจัดทำงบประมาณสมดุล 

นอกจากนั้นยังกำหนดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายไม่ตํ่ากว่า 20% เพื่อให้มั่นใจว่าในแต่ละปีรัฐบาลจะมีงบลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่สำคัญยังกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รัฐบาลสุทธิไม่เกิน 35% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็น เงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะ ทั้งหมด ไม่เกิน 10% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการไม่เกิน 5%

 

จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าสถานการณ์ทางด้านการคลังของประเทศในช่วง 5 ปี นับจากนี้ไปจนถึงปีงบ ประมาณ 2566 ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจากนโยบายที่พรรคการ เมืองหาเสียงเอาไว้ พบว่าสัด ส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่43.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 48.8% ในปีงบ ประมาณ 2566 สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ระดับ 8.7% ในปีงบประมาณ 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 10.9% ในปีงบประมาณ 2566 

 

นโยบายรัฐบาลเลือกตั้ง  บนความเสี่ยงฐานะการคลัง

 

ขณะที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 22.3% ของงบประมาณรายจ่ายตลอดช่วงปีงบประมาณ 2562-2566 และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รัฐบาลสุทธิ ในปีงบประมาณ 2562อยู่ที่ 26.9% และเพิ่มขึ้นเป็น 29.6% ในปีงบประมาณ 2566

แม้ว่าสถานการณ์ทางการคลังในด้านต่างๆ ยังไม่เกินกรอบว่ายั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ แต่สศค.ก็กังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

 

ยิ่งถ้าดูจากสมมติฐานของสศค.ที่ใช้ในการคำนวณจะพบว่าเป็นการคำนวณภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะเพิ่มจาก 16.99 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 ไปอยู่ที่ 21.49 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4.5 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 7.4 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 ทะลุ 10.49 ล้านล้านบาทในปี 2566

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไม่มากจาก 43.5% ในปีงบ ประมาณ 2562 เป็น 48.8% ในปี 2566 มาจากประมาณการตัว เลขภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าดูตัวเลขหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้าอีกจำนวน 3 ล้านล้านบาท หรือปีละ 7.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร

ต้องยํ้าว่านี่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการคลังที่ยังไม่ได้รวมรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียงเอาไว้ ซึ่งมีการประเมินตัวเลขคร่าวๆ เอาไว้ว่า จะต้องใช้เงินอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น มารดาประชารัฐ 181,000 บาทต่อคน ค่าแรงขั้นตํ่า 400-425 บาทต่อวัน ประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเจ้า 12,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาท ยกเว้นภาษีการค้าออนไลน์ 2 ปี ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% เป็นระยะเวลา 10 ปี เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน พักหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ 4 ปี และตั้งกองทุนประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท เป็นต้น

ไม่มีใครปฏิเสธว่านโยบาย เหล่านี้เป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การดำเนินนโยบายต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำอย่างระมัด ระวัง ไม่สร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลานในอนาคตมากเกินไป จนฐานะการคลังของประเทศอยู่ในขั้นวิกฤติหรือล้มละลายเหมือนที่หลายประเทศกำลังเผชิญ 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562

นโยบายรัฐบาลเลือกตั้ง  บนความเสี่ยงฐานะการคลัง