ชิงเดือด สถานีใต้ดิน ขุมทองเกาะรัตนโกสินทร์

22 ก.ค. 2562 | 23:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

กทม.พลิกโฉม รอบสถานีรถไฟใต้ดิน 3 เส้นทางไม่น้อยกว่า 5 สถานีในเขตเกาะรัตนโกสินทร์สนองปรับผังเมืองใหม่ให้ได้รับสิทธิ์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่มากขึ้น เยาวราช ถนนข้าวสาร บางลำพู วังบูรพา สามยอด เจริญกรุง เปลี่ยนโฉมแน่ จับตาราคาที่ดินขยับรับเปิดให้บริการสายสีนํ้าเงินสิงหาคม-กันยายนนี้

นับจากนี้ไปพื้นที่เขตชั้นในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะเกาะรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เริ่มฉายภาพความคึกคักมากขึ้นเมื่อรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2563 จับตาพื้นที่รอบสถานีรถไฟใต้ดินในเกาะรัตนโกสินทร์ว่าจะเปลี่ยนโฉมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

ต่อเรื่องนี้นายพงศ์พร สุดบรรทัด ที่ปรึกษาแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม เร่งเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคในเดือนกันยายน 2562 และมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ชิงเดือด สถานีใต้ดิน ขุมทองเกาะรัตนโกสินทร์

 ส่งผลให้มีจุดเชื่อมต่อขนาดใหญ่ตลอดจนสถานีสำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ไม่น้อยกว่า 5 สถานีหลัก อาทิ สายสีนํ้าเงิน จุดสถานี 1. วัดมังกรกมลาวาส 2. สามยอด และ 3. สนามไชย ส่วนสายสีส้ม จุดสถานี 1. สนามหลวง 2. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ 3. หลานหลวง และสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จุดสถานี 1. ผ่านฟ้า 2. วังบูรพา และ 3. สะพานพุทธ ซึ่งจะส่งผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองได้อย่างมากมาย

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ จุดสถานีสามยอด ในเขตพื้นที่วังบูรพา จะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย ของสายสีนํ้าเงินและสายสีม่วง เช่นเดียวกับจุดสถานีผ่านฟ้า ของสายสีม่วงและสายสีส้ม ส่วนสถานีสนามไชยจะเชื่อมโลจิสติกส์การเดินทางด้วยระบบรถ เรือ รางสมบูรณ์แบบ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่นํ้าเจ้าพระยา มีประตูออกทางท่าเรือราชินีได้อีกด้วย จุดเชื่อมต่อแต่ละสถานียังเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแต่ละชุมชนโดยรอบพร้อมกับการรักษาศิลปะวัฒนธรรมในย่านเก่าแก่ครบครันทั้งไทย จีน อินเดีย ยุโรป ในยุครัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีย่านการค้าสำคัญทั้งพาหุรัด สำเพ็ง โบ๊เบ๊ คลองถม ข้าวสาร สะพานเหล็ก วังบูรพา แพร่งนรา แพร่งภูธร แพร่งสรรพศาสตร์ ปากคลองตลาดที่ยังประกอบการค้าหลักสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติต่อไป

เบื้องต้นนั้นทางกลุ่มจะเร่งพัฒนาตามแนวคลองในพื้นที่ให้เป็นทางเลือกในการเดินทางเชื่อมโยงจุดต่างๆ พร้อมกันนั้นยังจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาแต่ละพื้นที่รอบสถานีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเข้าใจถึงบริบทของการพัฒนาแต่ละสถานีได้ตามสิทธิ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผังเมืองเปิดให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

 “เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในจะเปลี่ยนไปมากโดยเน้นให้การเติบโตของเมืองควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการพัฒนาคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าวของรัฐบาล เบื้องต้นอีกราว 40 วันจะได้เห็นการปรับแนวสายไฟฟ้าลงใต้ดินช่วงตามแนวคลองต่างๆ ก่อนที่จะปรับแนวท่อประปาและสายสื่อสารอื่นๆ ต่อไป ปรับภูมิทัศน์ประตูคลองและตามแนวคลองจุดต่างๆ นำร่องคูเมืองเดิมก่อนที่จะขยายไปยังคลองต่างๆ ปากคลองตลาดจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าและสะพานพระปกเกล้า โดยเฉพาะช่วงโรงแรมรัตนโกสินทร์และสะพานผ่านพิภพลีลาจะมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มเกิดขึ้น จุดดังกล่าว ซึ่งยังสามารถเชื่อมเส้นทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีนํ้าเงินที่สถานีสนามไชยได้อีกด้วย

 

‘เวิ้งนาครเขษม’ สร้างอาคารใหญ่ได้

 ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายทำเล แม้แต่ ย่านใจกลางเมืองเก่าบนเกาะรัตนโกสินทร์

 นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันข้อกำหนด ด้านผังเมืองในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์นั้นพบว่าหลายพื้นที่ได้รับการปลดล็อกไปมาก

ให้สามารถพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ จากเดิมกำหนดให้เป็นพื้นที่เชิงศิลปะ วัฒนธรรม ก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ตั้งแต่ 1- 5 ของแต่ละพื้นที่ให้สามารถพัฒนาอาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้น อาทิ ทางด้านความสูงในพื้นที่จะได้ไม่เกิน 4 ชั้น (12 เมตร) ยกเว้นโซนวังบูรพาที่ยังไม่ได้จำกัดความสูง ฯลฯ

 “บางส่วนปรับเป็นผัง เมืองพื้นที่สีแดง ( 1- 5) พาณิชยกรรม อาทิ ย่านเวิ้งนครเขษม สามารถพัฒนาอาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้น บางพื้นที่ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ถนนข้าวสาร บางลำพู เทเวศน์ เป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้นจากเดิมเป็นเขตผังเมืองศิลปะ วัฒนธรรม กวาดมาถึงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลาว่าการกทม. ต่อเนื่องมาถึงย่านเยาวราช วังบูรพา ส่วนถนนท้ายวังยังเป็นพื้นที่สีนํ้าเงินที่จัดไว้เฉพาะส่วนราชการ ปากคลองตลาด พาหุรัด ดิโอลด์สยามยังเป็นพื้นที่ผังเมืองสีแดง อาคารเก่าสามารถพัฒนาให้เป็นอาคารขนาดใหญ่ แต่ยังโดนจำกัดความสูง ถนนตรีเพชร จักรพงษ์ ตรีทอง ถนนดินสอ เสาชิงช้าจะปรับเป็นผังเมืองพื้นที่สีแดงทั้งหมด ยกเว้นเขตใกล้เคียงพระบรมมหาราชวังยังเป็นผังเมืองเดิมคือ สีนํ้าเงินนั่นเอง

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489  วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

 

ชิงเดือด สถานีใต้ดิน ขุมทองเกาะรัตนโกสินทร์