“ณัฎฐพล”แบ่งงาน 2 รมช.ศึกษา

18 ก.ค. 2562 | 08:03 น.

“ณัฎฐพล” คุม 3 หน่วยงานหลัก “สพฐ.-คณะกรรมการอาชีวศึกษา-สำนักงานปลัดฯ” พร้อมแบ่งงานให้ "คุณหญิงกัลยา-กนกวรรณ"2 รมช.ศึกษาฯ ดูแลแล้ว

 

18 กรกฎาคม 2562 นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนเองจะรับผิดดูแลงานของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดศึกษาธิการ(ศธ.)

พร้อมกันนี้ได้มีคำสั่งแบ่งงานให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาทั้ง 2 คนให้รับผิดชอบดูแลเรียบร้อยแล้วโดยในส่วนของ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช จะรับผิดชอบ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มี 2 เรื่องใหญ่ที่สามารถทำได้ทันที คือ เรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรโดยเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เรื่องการเรียนการด้านเกษตรแก่เด็กที่เรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆเพื่อยกระดับของการทำเกษตรและเกษตรกรของไทย เป็น Smart Farmer อีกทั้งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม

อีกเรื่อง คือ โค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาสมัยใหม่ที่เป็นทักษะของโลกในอนาคต และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ดังนั้น ตามนโยบายของรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายมานั้นให้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นคงไม่ได้เป็นการสอน Coding ทั้งประเทศแต่จะเป็นการเริ่มในบางโรงเรียน และมีการอบรมครูผู้สอนซึ่งขณะนี้มีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) เป็นหน่วยงานหลักในการอบรมครูผู้สอน

ทั้งนี้ สำหรับการเรียนการสอน Coding ไม่ได้เป็นการสอนการเขียนโปรแกรม หรือเขียน Coding แต่เป็นการสอนตรรกะทำให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาและเรียนได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบจะมีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีก็สามารถเรียนได้ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีทีมงานในการดำเนินการเพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เด็กอนุบาล -ประถมศึกษา ได้เรียน Coding  และจะเน้นในโรงเรียนต่างจังหวัดเพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการเรียน Coding  อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะมีการแถลงนโยบายชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 25 กรกฏาคม 2562 นี้

ส่วนนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ จะรับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ทั้งนี้ นางกนกวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ได้รับแนวทางเบื้องต้นในการทำงานโดยจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานนโยบายต่างๆของศึกษาธิการที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ได้มีวิสัยทัศน์เดิมอยู่แล้วคงต้องไปดูในส่วนเดิม และดูว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดมากขึ้น เช่น การจัดการเรียนการสอนของเด็กที่เรียนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งมีเด็กจำนวนมาก และมีการเรียนรู้อาชีพจะเน้นให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทำอย่างไรให้ผู้เรียนมาเรียนมากขึ้นเพราะบางคนลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ไม่สะดวกมาเรียน

นอกจากนั้นจะมีการส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรด้านวิชาการและหลักสูตรด้านอาชีพให้แก่เด็ก ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ รวมถึงมีการสร้างขวัญกำลังใจแก่ครู กศน.ด้วย ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ และถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ รวมถึงการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาที่จะพยายามทำให้มีความภาคภูมิในในตนเอง ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นมือเปื้อนแต่ต้องมือเปื้อนที่มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจมากขึ้น  

อีกทั้งจะมีการส่งเสริมทวิภาคีเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการโดยจะต้องมีการติดตามและประเมินผลจากผู้ประกอบการทุกพื้นที่เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ ฝึกงาน และได้เงินเดือนระหว่างเรียนร่วมด้วย รวมทั้งจะมีการส่งเสริมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด เน้นให้ลูกหลานมีวินัย ทำอย่างไรให้เด็กอยากมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองที่ทุกคนมีความสุขและมีส่วนร่วม มีภาคภูมิใจในการเป็นลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด