บาทแข็ง ผลตอบแทนพันธบัตรลด

18 ก.ค. 2562 | 07:14 น.

ช่วงนี้ เห็นพูดกันมากเรื่องค่าเงินบาท ที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 5.7% จากปลายปีก่อน ซึ่งตลาดประเมินว่า บาทจะยังแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินทุนต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาพักและเก็งกำไรระยะสั้น 

ไม่ว่าเงินบาทจะอ่อนหรือแข็งจะมีคนชอบและไม่ชอบ เพราะย่อมมีคนได้และเสียประโยชน์  ที่ชื่นชอบก็คงจะเป็นคนที่จำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ คือ นำบาทไปแลกเป็นเงินสกุลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ส่งลูกเรียนต่างประเทศ คนไทยที่มีแผนจะไปเที่ยวเมืองนอก ก็จะอาศัยจังหวะที่บาทแข็งแลกเงินตุนไว้ก่อน เพราะจะทำให้ใช้เงินบาทน้อยลง หรือกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศ ก็สามารถจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนดได้  
    
ขณะที่กลุ่มที่เสียผลประโยชน์อย่างมาก ก็คงเป็นผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพราะถ้านำมาแลกเป็นเงินบาท แล้วจะได้น้อยลง กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเข้ามาเที่ยวในไทย ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น เช่นกัน และบังเอิญว่า ทั้งกลุ่มผู้ส่งออกและกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เสียงดัง เพราะมีสัดส่วนต่อขนาดของเศรษฐกิจไทยสูง จึงเรียกร้องให้ทางการออกมาดูแล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เองก็ออกมาระบุว่า จะติดตามดูอย่างใกล้ชิด 
     บาทแข็ง ผลตอบแทนพันธบัตรลด

สิ่งแรกที่ธปท.ทำคือ ลดวงเงินประมูลพันธบัตรในเดือนกรกฏาคมลงราวๆ 6 หมื่นล้านบาท โดยจะลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลง 2 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งในการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ถามว่า แล้วจะมีผลอย่างไรต่อตลาดตราสารหนี้บ้าง 
    
การปรับลดวงเงินพันธบัตรในครั้งนี้ น่าจะมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลงไปอีกจากปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นอายุ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือนอยู่ที่ 1.68%, 1.71% และ 1.75% ตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนสถาบันที่มักจะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงด้วย