“เหล็กจีน”ท่วมอาเซียน ทางออกประเทศไทย?

17 ก.ค. 2562 | 07:01 น.

“เหล็กจีน”ท่วมอาเซียน ทางออกประเทศไทย?

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรา 232 ของกฎหมายการค้า 1962 ของสหรัฐฯ (Trade Expansion Act 1962) เก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% กับประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปตามรายงาน “The Effect of Imports of Steel on the National Security”  และทรัมป์ก็ได้หาเสียงว่า “จะผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมกลับไปเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเรา (We are going to put American steel and aluminum back into the backbone of our country)”

 

ในปี 2483 สหรัฐฯ ผลิตเหล็ก (วัดจากส่วนแบ่งการผลิตในตลาดโลก) อยู่ที่ 70% ของโลก จ้างงาน 700,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือศักยภาพการผลิตเหลือ 5% ของโลก จ้างงาน 83,000 -140,000 คน ที่ผ่านมามีการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กภายในสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน เช่น อดีตประธานาธิบดี เจอรัล ฟอร์ด (Gerald Ford) และริชาร์ด นิกสัน (Ricard Nixon) ได้ออกนโยบายจำกัดการนำเข้าเหล็กไม่เกินปีละ 5.7 ล้านตัน ต่อมาอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์กำหนดราคาขั้นต่ำหรือที่เรียกว่า “Trigger Price Mechanism : TPM” กำหนดราคาอ้างอิง (Reference price) ไว้ที่ 5% + 8% (กำไร) + ค่าขนส่ง ถ้าราคาเหล็กนำเข้าต่ำกว่าราคาอ้างอิงเหล็กของสหรัฐฯ เหล็กของประเทศนั้นจะถูกเก็บภาษีนำเข้า

“เหล็กจีน”ท่วมอาเซียน ทางออกประเทศไทย?

ประธานาธิบดีบุช ได้ใช้มาตรา 201 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Committee) เก็บภาษีเหล็ก 8 ถึง 30% ในปี 2545 การใช้มาตรา 232 ภายใต้เหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ (National Security)”  ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบเป็น 100,000 ชนิด ส่วนทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ

 

ปี 2560 สหรัฐฯ นำเข้าเหล็ก  26.8 ล้านตัน (Global Steel Trade Monitor, March 2018) มาจากแคนาดาสัดส่วน 17% จากบราซิล 14% เกาหลีใต้ 10% ญี่ปุ่น 5% เม็กซิโก 9% เยอรมัน 4% และ จีน 2% ประเทศอาเซียนที่สหรัฐฯ นำเข้ามาจากเวียดนามมากสุด 0.7 ล้านตัน  สัดส่วน 2% และไทย 0.4 ล้านตัน สัดส่วน 1% การนำเข้าเหล็กสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 36 ล้านตัน ระหว่างปี 2554 กับ 2560 และเวียดนามก็เป็นประเทศที่มีการส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 506%

“เหล็กจีน”ท่วมอาเซียน ทางออกประเทศไทย?

 

การใช้มาตรา 232 จะทำให้การส่งออกสินค้าเหล็กจากไทยและประเทศอื่น ๆ ไปสหรัฐปรับตัวลดลง และประเทศผลิตเหล็กหันส่งออกมายังประเทศไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากสถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยรายงานว่าช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศไทยในภาพรวมเท่ากับ 38% (ต่ำสุดในรอบหลายๆ ปี)  และถือว่าเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกัสหรัฐที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ประมาณ 82% หรือ จีนที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตประมาณ 79% หรือแม้แต่ประเทศในอาเซียน โดยในปี 2561 เวียดนาม มีการใช้กำลังการผลิตถึง 60% และอินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตไปถึงระดับ 70% ในปี 2562

 

จีนเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเหล็กมายังภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด (ข้อมูลจาก World Steel Association คิดเป็นร้อยละ 38.5 ของการนำเข้าเหล็กของอาเซียน) ดังนั้นการที่จีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเหล็ก จีนจะส่งสินค้าเหล็กเข้ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้น เพราะจีนไม่ได้ลดการผลิตเหล็กลง ในทางกลับกัน “ผลิตเพิ่มขึ้น” ถึงแม้ว่าจีนจะมีการลดกำลังการผลิตในประเทศประมาณ 150 ล้านตันตั้งแต่ช่วงปี 2559-2561 (ปี 2561 จีนผลิตเหล็ก 928 ล้านตัน อินเดีย 106 ล้านตัน และญี่ปุ่น 104 ล้านตัน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดกำลังการผลิตในส่วนที่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม (สร้างมลพิษเพราะมีใช้เครื่องจักรเก่า) หรือผิดกฎหมายเท่านั้น (เตา Induction Furnace : เก่าหลอมเหล็กรุ่นเก่า)

 

ขณะที่จีนได้มีการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กในส่วนเตา “Electric Arc Furnace (EAF)” ซึ่งเป็นเตาหลอมรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2560-2561 มีการอนุมัติการเพิ่มการผลิตแล้วกว่า 190 ล้านตัน และคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 215 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้การผลิตเหล็กดิบของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก World Steel Association รายงานว่าการผลิตเหล็กสะสมช่วง มกราคม-พฤษภาคม 2562 มีปริมาณถึง 405 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2561 ถึง 10% ในขณะที่การคาดการณ์ความต้องการใช้ของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จีนมาลงทุน 12.5 ล้านตัน และมีการเปิดดำเนินการแล้ว หรือเตรียมเปิดดำเนินการ ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“เหล็กจีน”ท่วมอาเซียน ทางออกประเทศไทย?

 

สำหรับประเทศไทยภายใต้การเพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กของจีนอย่างมหาศาล ผมเสนอคิดเห็น 2 ข้อคือ 1.มาตรการลดการนำเข้า ปัจจุบันสินค้าเหล็กสำเร็จรูปมีการนำเข้ามายังประเทศไทยมูลค่า 343,337 ล้านบาท (ปริมาณการนำเข้าปี 2561 เกิน 10 ล้านต้น) ส่วนใหญ่จากจีนและญี่ปุ่น ถ้าไทยสามารลดการนำเข้า น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ  สหรัฐฯ มีนโยบาย American First  จีน มีนโยบาย Made in China 2025 หรือมีการกำหนดมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าที่เกิดจากปัญหาสงครามทางการค้า เช่นเดียวกับยุโรป และแคนาดา ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการ “Safeguard” กับสินค้าเหล็กที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศหลายสินค้าในคราวเดียวกัน