กลุ่มทุนใหญ่ต้าน ค่าแรงขั้นตํ่า400

18 ก.ค. 2562 | 03:05 น.

เอกชน 3 สถาบันค้านรัฐบาลใหม่ลุยขึ้นค่าแรง 400 บาท ชี้เอสเอ็มอีตายหมู่ จี้จ่ายตามทักษะฝีมือเป็นธรรมสุด จับตาแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทยเพิ่ม “ชาลี” ลุ้นแรงงาน 5.2 ล้านคนได้เฮ ขณะยอดขายรถยนต์มิ.ย.ทรุดครั้งแรก-อสังหาฯ ยอดหด รอพิสูจน์ฝีมือ “ประยุทธ์ 2”

พรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้ประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นเฉลี่ย 400 บาทต่อวันตามที่ได้หาเสียงไว้ (จากปัจจุบัน 308-330 บาทต่อวัน) โดยยังไม่ได้ระบุในละเอียดว่าการปรับครั้งนี้จะขึ้นพรวดเดียว หรือจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทภายในกี่ปี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ 1 ในพรรคร่วมรับเสนอประกันค่าแรงไม่ให้ตํ่ากว่า 1.2 แสนบาทต่อปี หากพื้นที่ใดแรงงานได้ค่าจ้างทั้งปีไม่ถึงอัตราดังกล่าวรัฐจะชดเชยส่วนต่างให้จนครบ ไม่ต้องเป็นภาระ นายจ้าง ซึ่งภาพรวมนโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นตํ่าเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด แต่สร้างแรงกระเพื่อมต่อราคาสินค้าและบริการที่เตรียมปรับราคาไว้รอท่าแล้ว

 

ค้าน400บาทรวดเดียว

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน สายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลใหม่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าแบบพรวดเดียวเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่พอรับได้หากรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาท เช่นขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทภายใน 3 ปี หรือขึ้นปีละ10% ซึ่งถือว่าปรับขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปีนี้กระทรวงพาณิชย์คาดจะขยายตัวในกรอบ 0.7-1.3% ทั้งนี้หากขึ้นเป็น 400 บาทรวดเดียวผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อาจต้องปิดกิจการ หรือลดคนงานลงจากไม่มีเงินจ่าย

“การปรับขึ้นค่าแรงควรให้เป็นหน้าที่ของไตรภาคีจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะรู้ดีถึงสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขันของนายจ้าง ความจำเป็นของลูกจ้าง และประสิทธิภาพแรงงานเพื่อประเมินการปรับขึ้นค่าจ้าง และส่งเรื่องมายังไตรภาคีใหญ่เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี”

กลุ่มทุนใหญ่ต้าน  ค่าแรงขั้นตํ่า400

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าโดยจ่ายตามทักษะฝีมือ(Pay per Skill) ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 400-425 บาทต่อวันตามที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ เข้าใจว่า เป็นการปรับขึ้นแบบมีเงื่อนไข เช่น แรงงานต้องได้รับการฝึกอบรม หรือยกระดับทักษะ(upskill) หรือเพิ่มเติมทักษะ(reskill) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในอีอีซีที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง 4-5 แสนคน

กลุ่มทุนใหญ่ต้าน  ค่าแรงขั้นตํ่า400

จับตาต่างด้าวทะลักไทยเพิ่ม

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จุดยืนของหอการค้าฯ ไม่คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ขอให้การพิจารณาปรับขึ้นเป็นหน้าที่ของไตรภาคีจังหวัด และไตรภาคีกลาง เป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้าย เพราะจะทราบเหตุผลความจำเป็นในการปรับ-ไม่ปรับขึ้น และอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ประสบการณ์ในการปรับขึ้นค่าจ้างรวดเดียวเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวันกระทบมากกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่คนที่ได้ประโยชน์มากคือแรงงานต่างด้าวในไทย

สอดคล้องนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าแบบก้าวกระโดด จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ เช่น เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และนำไปสู่การปรับตัวสูงขึ้น ขึ้นราคาสินค้าและบริการ อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ทำให้แรงงานไม่ได้รับเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

ลุ้น 5 ล้านคนได้ปรับเพิ่ม

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า แรงงานที่ควรได้รับสิทธิ์ปรับค่าแรงขั้นตํ่า 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ มีเพียง 30-40% (3.9-5.2 ล้านคน) ของแรงงานทั้งหมดที่มี 13 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแรงงานที่ค่าจ้างยังไม่ถึง 400 บาทต่อวัน และไม่ได้ปรับให้กับกลุ่มที่มีฐานค่าแรงงานสูงอยู่แล้ว

กลุ่มทุนใหญ่ต้าน  ค่าแรงขั้นตํ่า400

ส่วนกรณีนี้จะไปกระทบต่อต้นทุนของนายจ้างหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะกระทบเพราะทุกครั้งที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า รัฐบาลก็ช่วยนายจ้าง เช่น เมื่อครั้งปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลก็ออกมาช่วยนายจ้างลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23%

“รัฐบาลรับปากไว้แทบทุกพรรค เรื่องปรับค่าแรงขั้นตํ่า ดังนั้นควรเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รีบดำเนินการ”

 

ยอดขายรถมิ.ย.วูบครั้งแรก

ด้านหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯเผยยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายน 2562 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยมียอดขายทั้งสิ้น 86,000 คัน ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 87,855 คัน ค่ายรถที่มียอดขายสูงสุดคือ โตโยต้า 28,925 คัน เพิ่มขึ้น 4.0%,อีซูซุ 13,215 คัน เพิ่มขึ้น 2.1 %,ฮอนด้า 12,142 คัน เพิ่มขึ้น 15.1% ,มิตซูบิชิ 7,375 คัน เพิ่มขึ้น 2.8%

ส่วนค่ายที่มียอดขายลดลงในเดือนมิถุนายนนั้น ประกอบไปด้วย นิสสัน 5,461 คัน ลดลง 14.3%, มาสด้า 5,075 คัน ลดลง 24.3%, ฟอร์ด 3,515 คัน ลดลง 29.7%, ซูซูกิ 2,101 คัน ลดลง 26.3 % และ เชฟโรเลต 1,181 คัน ลดลง 25.7%

“ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อยอดขายรถที่ลดลงเป็นผลจากแบงก์ชาติที่คุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เหล่าสถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์ต่างๆ มีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ โดยบางไฟแนนซ์มียอดรีเจ็กต์สูงขึ้น 30-50% จากเดิมเฉลี่ยเพียงแค่ 10% ส่วนปัจจัยค่าแรงยังไม่มีอะไรน่า เป็น ห่วง เพราะมีระดับของค่าจ้างกำหนด ไว้แล้ว” นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาห กรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าว

กลุ่มทุนใหญ่ต้าน  ค่าแรงขั้นตํ่า400

ศก.-LTVกดแรงซื้ออสังหาฯ

ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ประสบปัจจัยลบ 2 เรื่องหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมาตรการแอลทีวี ส่งผลยอดขายช่วงครึ่งแรกปี 2562 ไม่คึกคัก โดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม ธุรกิจพฤกษาฯ-พรีเมี่ยม บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมทีกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย ลดลงอยู่ก่อนแล้ว จากภาวะเศรษฐกิจ ภายในประเทศซึ่งอยู่ในช่วงการปรับตัว แต่หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อบ้านใหม่ด้วยมาตรการ LTV ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ส่งผลให้ยอดขายทั้งตลาด ณ ช่วงครึ่งแรกปี 2562 ติดลบไปแล้ว 12.5% ถือเป็นการออกมาตรการมาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แม้จะ ถูกต้องและเป็นผลดีต่อตลาดในระยะยาว กลายเป็นยิ่งกดดันตลาด ที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรง ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบของจีดีพีของประเทศแล้วและยังกระทบการจ้างงานธุรกิจต่อเนื่องด้วย”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มทุนใหญ่ต้าน  ค่าแรงขั้นตํ่า400