ไขปริศนาธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ ‘อแลน ทัวริง’ คือใคร

16 ก.ค. 2562 | 05:10 น.

ธนาคารกลางอังกฤษได้เผยแพร่ภาพธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ ที่จะนำออกมาใช้ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 เป็นธนบัตรเคลือบพลาสติกโพลีเมอร์ ที่มีภาพของบุรุษคิ้วเข้ม จมูกโด่ง ริมฝีปากบาง ระบายยิ้มอ่อนๆที่มุมปาก ลายเซ็นใต้ภาพระบุชื่อ อแลน ทัวริง (Alan Turing) หลายสงสัยว่าเขาคือใคร? ปกติบุคคลที่จะขึ้นมาปรากฏโฉมอยู่บนธนบัตรมักจะเป็นผู้นำประเทศ หรือบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ แล้วอแลน ทัวริง เป็นใคร มีบทบาทในประวัติศาสตร์ของอังกฤษอย่างไร

ไขปริศนาธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่  ‘อแลน ทัวริง’  คือใคร


 

 

คำถามนี้ไม่ต้องเป็นปริศนาคาใจ เมื่อนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติอังกฤษมาไขข้อข้องใจด้วยตัวเอง  การจัดทำและออกแบบธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่นี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอชื่อบุคคลที่พวกเขาอยากให้ปรากฏบนหน้าธนบัตร และ“อแลน ทัวริง” ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาจำนวนเกือบๆ 1,000 คนในสาขาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานควรค่าแก่การเชิดชู   บุคคลผู้นี้เป็นนักคณิตศาสตร์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์” (father of artificial intelligence) ของอังกฤษ เป็นผู้ที่ใช้ความสามารถในการ “ถอดรหัส” ทำให้อังกฤษสามารถรอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยกองทัพนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันแถลงข่าว 15 ก.ค.2562

“อแลน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถโดดเด่น ผลงานของเขามีผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อวิถีชีวิตของพวกเราในปัจจุบัน” ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษถึงกับเปรียบเทียบว่า ทัวริงนั้นเป็นเสมือนยักษ์ใหญ่ที่หลายคนทุกวันนี้สามารถเหยียบยืนบนบ่าของเขา  ในปี 2557 เคยมีการสร้างภาพยนตร์ที่เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติชีวิตของนักคณิตศาสตร์ผู้นี้ ผลงานโดดเด่นที่สุดของทัวริงคือการประดิษฐ์เครื่องมือถอดรหัสตัวเลขฐานสอง (binary code) ที่กองทัพเยอรมันใช้เป็นรหัสแทนตัวอักษรในการสื่อสารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้รัฐบาลอังกฤษรู้แผนการของนาซีและสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ต่อมาหลังยุคสงคราม ทัวริงยังมีผลงานร่วมพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆของโลก งานของเขาที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถคิดแทนมนุษย์ได้หรือไม่นั้น ปูพื้นฐานมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ในปัจจุบัน
 

 

การตัดสินใจเชิดชูให้อแลน ทัวริง เป็นบุคคลสำคัญบนธนบัตรในครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการสนับสนุนความหลากหลายทางสังคและส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างกันของบุคคลบนหน้าธนบัตร เนื่องจากทัวริงนั้น เป็นที่รู้กันในสังคมยุคอดีตว่าเป็น “ชายรักชาย’  เขาถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันเมื่อปี 2495 ถูกลงโทษอย่างโหดร้าย และอแลน ทัวริง ปลิดชีพตัวเองในปี 2497 ต่อมาเขาได้รับการอภัยโทษ(แม้เสียชีวิตไปแล้ว)จากพระบาทสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซเบธในปี 2556 เพื่อคืนเกียรติให้กับเขา ผู้ซึ่งมีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมมาจนทุกวันนี้

 

สำหรับรูปลักษณ์ของธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของอังกฤษในปี 2564 นั้น จะเป็นธนบัตรเคลือบพลาสติกโพลีเมอร์ ที่มีภาพถ่ายของอแลน ทัวริง สมัยช่วงปี 2494 ด้านหลังเป็นตารางสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เป็นผลงานทางวิชาการของเขา ประกอบด้วยภาพคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ รหัสเลขฐานสอง และคำพูดของเขาที่ว่า “สิ่งนี้เป็นเพียงรสสัมผัสแรกของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นเพียงร่างเงาของสิ่งที่กำลังจะเป็นไป” ซึ่งหมายถึงผลงานการคิดค้นคอมพิวเตอร์ในยุคต้นๆ ของทัวริง