‘Better for the few’ หรือ ‘Good for all’ อะไรดีกว่ากัน?

16 ก.ค. 2562 | 04:02 น.

เขียน : ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ
[email protected]
+++++++
บทบัญญัติสุดท้ายของผู้ปกครองในหนังสือ Animal Farm ของ จอร์ช ออร์เวลล์ คือ ‘สัตว์ในฟาร์มทุกตัวมีความเสมอภาคเท่ากัน แต่สัตว์บางชนิดมีความเสมอภาคมากกว่าสัตว์อื่น (All animals are equal, but some animals are more equal than others)’ นำไปสู่คำถามที่ว่า ‘ทำไมบางคน บางกลุ่ม จึงควรได้รับโอกาสและสิทธิพิเศษมากกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม (Better for the Few)’

คำตอบในเรื่องนี้ อาจจะอธิบายได้จากตัวอย่างแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ใช้กันกว้างขวางมานานกว่า  30 ปี คือ ‘Trickle Down Economic’ หรือ ‘เศรษฐศาสตร์แบบไหลริน’ ซึ่งอนุมานว่าการกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยการไหลรินของผลประโยชน์จากนายทุนใหญ่ ไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย และสู่คนยากจน จากเมืองสู่ชนบท ดังนั้น รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับนักลงทุน และเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการลดภาษีธุรกิจ ภาษีเงินออม กำไรส่วนทุน มากกว่าจะเป็นการลดภาษีแบบทั้งกระดาน เพื่อเจ้าของธุรกิจจะได้นำเงินจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปลงทุน เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด การใช้แนวทางดังกล่าว ทำให้นายทุนรายใหญ่ รวมทั้งผู้มีอำนาจในการควบคุมการจัดสรรทรัพยากร เป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งของผลพวงการเติบโตมากกว่าคนอื่น ส่วนเจ้าของปัจจัยสนับสนุนการผลิต เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ และผู้ใช้แรงงาน จะได้รับประโยชน์จากการรับช่วงต่อ ในฐานะผู้ตามการพัฒนา ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การไหลริน (Trickle-Down)’ ของประโยชน์จากการพัฒนาจากบนลงล่าง 

‘ผู้ตาม’ มักได้รับส่วนแบ่งในสัดส่วนที่น้อยกว่า ‘ผู้นำ’ ซึ่งก็มีการอธิบายว่าเป็น ‘ความชอบธรรม’  เนื่องจากผู้นำต้องรับภาระความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าผู้ตาม (Better for the Few) 

ต้นแบบการใช้แนวคิดดังกล่าวคือ ‘เรแกนโนมิกส์’ ของประธานาธิบดีเรแกน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 80  โดยรัฐบาลลดเพดานภาษีเงินได้จากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 28  ภาษีบรรษัทถูกตัดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 34 โจเซฟ สติกลิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การให้ประโยชน์กับเจ้าของทุนบางกลุ่ม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจส่วนบนและส่วนล่าง สิ่งที่เกิดขึ้น คือรายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลางไม่ขยับ และส่วนล่างลดลงไปยิ่งกว่าเดิม จนเกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ 

ไซมอน คุซเนท นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกท่าน ยอมรับว่าการประยุกต์ใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์แบบไหลรินในการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจจะสร้างความเหลื่อมล้ำในช่วงแรกเนื่องจากภาคแรงงานจะได้ผลตอบแทนต่ำ แต่เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะเพิ่มสูงตาม พร้อมกับแรงงานจะมีระดับการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้เกิดการกระจายการผลประโยชน์ไปสู่ชนชั้นกลางที่เป็นผู้บริหาร รวมทั้งกลุ่มแรงงานในรูปค่าจ้างเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะลดลง ในขณะที่ศาสตราจารย์ โทมัส พิเก็ตตี แห่งมหาวิทยาลัยปารีส เจ้าของหนังสือ ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21  แย้งว่าแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวดีและสัดส่วนของค่าจ้างแรงงานในรายได้ประชาชาติจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำอาจขยายวงกว้างขึ้น เพราะเจ้าของทุนมีแนวโน้มที่จะหาผลตอบแทนได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถแสวงหารายได้เพิ่มจากหลากหลายทาง

การเปลี่ยนแนวคิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบบนลงล่างไปเป็นแบบทั่วถึงและเท่าเทียม (Access for All)  โดยวางหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงทุนและเกลี่ยผลประโยชน์ที่เป็นผลผลิตจากทุนอย่างยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คือการปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก ‘Better for the Few’ ไปสู่ ‘Good for All’  เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานได้ทั่วถึงด้วยตนเอง 

ตัวอย่างของ ‘Good for All” ที่กำลังได้รับความสนใจคือ แนวคิดของ วุฒิสมาชิก เบอร์นี แซนเดอร์ส จากพรรคเดโมแแครต ที่ได้เสนอนโยบาย “Medicare for All” ซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพแบบเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนประกันจากนายจ้างถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยระบบการจัดการจากรัฐบาลเองทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และมีต้นทุนที่ถูกลง นโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมทุกการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย ทันตกรรม หรือ การคลอดบุตร โดยที่ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมทั้งการออกใบสั่งยาที่รัฐบาลจะเป็นผู้บริหารจัดการทำให้มีอำนาจในการต่อรองราคายากับบริษัทเอกชนได้อย่างเต็มที่ 

‘Better for the Few” ที่นำมาใช้กับการพัฒนาแม้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และการกระจายความมั่งคั่ง การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องมาจากการแทรกแซงภายนอกโดยรัฐ เช่น มาตรการทางภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย หรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย รวมทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และระบบสินเชื่อรายย่อย  

ในขณะที่แนวคิด ‘Good for All’ แม้จะมีข้อดีที่เน้นความทั่วถึง เท่าเทียม เท่ากัน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะช่วยให้คนจำนวนมากที่ไม่มีเงินซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพจากบริษัทประกันเอกชน ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง แต่ก็อาจทำลายกลไกตลาด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านคุณภาพของบริการที่ขาดแรงจูงใจในการแข่งขัน และเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากมีข้อจำกัดจากงบประมาณของรัฐที่เพิ่มมากขึ้น ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การหาเงินสนับสนุนจากภาษีรายได้แบบขั้นบันได หรือต้องจ่ายค่า Premium สำหรับบริการที่ดีขึ้น ซึ่งจะต่างจาก ‘Better for the Few’ เพราะไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะบางกลุ่ม แต่เป็นการร่วมจ่ายตามคุณภาพของบริการ และไม่ได้ทำลายกลไกตลาดอย่างสิ้นเชิง 

 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

 

‘Better for the few’ หรือ ‘Good for all’ อะไรดีกว่ากัน?